โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย “ใหม่เอี่ยม (Maiiam)” ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในงานจัดแสดงผลงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก หนึ่งในผลงานที่ผมสนใจได้แก่งานของ อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี งานชิ้นนี้เป็นคอลลาจ และ ภาพถ่ายพิมพ์ดิจิทัลบนไวนิล ขนาด 175 X 200 เซนติเมตร
โดยภาพรวมแล้ว ผลงานชิ้นนี้มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนแรก ได้แก่ ภาพพื้นหลังสีเทา ซึ่งดูไม่ออกว่าคือภาพอะไร และ ส่วนที่สอง เป็นกระดาษสีสันสดใส อาทิ เขียว ชมพู เหลือง น้ำตาล ตัดเป็นลวดลายและแปะทับ/บดบังพื้นหลังสีเทาจนเกือบหมด เว้นไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เราจะ “อ่าน” องค์ประกอบทั้งสองส่วนของงานชิ้นนี้อย่างไรดี? ผมเสนอว่า เราน่าจะเริ่มจากภาพพื้นหลังก่อนเป็นอันดับแรก หลังการสำรวจเบื้องต้น ผมมั่นใจว่าภาพพิมพ์ดิจิทัลข้างหลังนั้นคือภาพความรุนแรงทางการเมืองไทย ระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519
ตัวภาพต้นฉบับเป็นฉากทหาร 4 คน ถืออาวุธปืน กำลังฉุดลากนักศึกษาที่ไม่มีอาวุธ ทว่า ภาพนี้ก็ไม่สามารถเห็นได้เพราะถูกปิดบังอยู่ นัยนี้ พื้นหลังสีเทาจึงเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ที่ถูก “ทำให้” ลืมเลือนนั่นเอง และเพราะฉะนั้น ชื่อผลงานชิ้นนี้ของอาจารย์ทัศนัยจึงเป็น “ไม่มีชื่อ – untitled” เพราะเราไม่อาจจะตั้งชื่อให้กับสิ่งที่ถูกลืม สาบสูญไปแล้ว
คำถามต่อมาคือ กลไกใดที่ทำให้เราลืม? การจะตอบคำถามนี้ได้นั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบส่วนที่สอง
ได้แก่ กระดาษที่บดบังภาพความรุนแรงทางการเมืองอยู่ ซึ่งแม้จะดูเผินๆ แล้วเหมือนกัน ทว่า แท้ที่จริงแล้วกลับมีวัสดุสองชนิดซึ่งความหมายแตกต่างกัน วัสดุชนิดแรกคือกระดาษสีสดใสที่ตัดเป็นลวดลาย ซึ่งมักจะใช้ในงานประเพณีต่างๆ ของสังคมไทย[1]
ในขณะที่วัสดุชนิดที่สอง คือกระดาษหนังสือเก่า Lignin ในเนื้อกระดาษทำปฏิกิริยากับอากาศจนเป็นสีเหลือง เนื้อหาในกระดาษ กล่าวถึง เผด็จการทหาร และ มาตรการที่รัฐใช้เพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาสมัย 6 ตุลาคม 2519 การเลือกเนื้อหาส่วนนี้ของหนังสือมาประกอบผลงานไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นแรงปฏิกิริยาต่อรัฐบาลทหารปี 2557 เป็นต้นมา
นัยนี้ วัสดุทั้งสอง จึงสะท้อนถึงกลไกที่ทำให้เราลืมความรุนแรงในประวัติศาสตร์ ได้แก่ การอ้างกลับไปหาแต่ประเพณีอันดีงาม และการศึกษา/ตำราที่บิดเบือนหรือปกปิดเนื้อหาบางตอนนั่นเอง กลไกเหล่านี้แยกไม่ออกกับการสร้างชาติ และ ชาตินิยม (Nationalization and Nationalism) เพราะชาติเรียกร้องให้เราลืมตลอดเวลา
เราต้องลืมเสียก่อนว่าเราเป็นลูกหลานของรัฐในอดีต เราจึงจะบูรณาการตัวเองกับชาติใหม่ได้, เราต้องลืมว่าเราเคยเป็นเจ๊ก ล่องเรือมาจากจีนช่วงปลายรัตนโกสินทร์ เราจึงเดือดร้อนกับการเสียกรุงศรีอยุธยาได้, ดังนั้น Ernst Renan จึงกล่าวว่า “การลืม” นี้เองคือปัจจัยสำคัญในการสร้างชาติ [2]
ดังนั้น ในทางกลับกัน คนที่ไม่ยอมลืม/ลืมไม่ลง จึงถูกกล่าวหาและกลายเป็นคนแปลกแยกที่ไม่รักชาติ
รายละเอียดที่น่าสนใจมากๆ อีกประการหนึ่งของงานชิ้นนี้ก็คือ ภาพพื้นหลังไม่เพียงถูกบังเท่านั้น แต่ตัวมันเองก็ “ลางเลือน” ไปด้วย ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเมื่อประวัติศาสตร์ถูกลืม หรือเมื่อมันถูกบิดเบือนเป็นเวลานานเพียงพอ ประวัติศาสตร์ฉบับจริงก็เริ่มสาปสูญไปจนไม่อาจจะจับต้นชนปลายได้อีก
เอาหละ, เมื่อรัฐชาติเรียกร้องเราให้ลืมถึงเพียงนี้ บังคับเราถึงเพียงนี้ เราก็อาจจะพลาดลืมอดีตได้ ทว่า สำหรับภาพปัจจุบันหละ? ในวันที่นักศึกษา ประชาชน ถูกทุกคาม เรามองเห็นหรือไม่? หรือจริงๆ แล้วกระดาษลวดลายเหล่านี้ไม่ได้บดบังเพียงประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงดวงตาของคนร่วมสมัยใหม่เอี่ยมอย่างพวกเราด้วย, น่าสงสัยจริงๆ
[1] ดู Clip เพิ่มเติมได้เช่น https://www.youtube.com/watch?v=pyD8TkoiSx8 เป็นต้น
[2] ดู http://www.polskawalczaca.com/library/What%20Is%20A%20Nation.pdf