โดย ชัยไชย
อีโมติคอนซิมโบลิสม์ เป็นหนึ่งในผลงานกวีนิพนธ์ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทกวี นครคนนอก ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2559 ในหนังสือเล่มนี้ผู้ประพันธ์ได้ผสมผสานรูปแบบการเขียนกวีนิพนธ์ที่หลากหลาย ทั้งฉันทลักษณ์ตามขนบ บทกลอนไร้ฉันทลักษณ์ และวรรณรูป โดยบทที่ชื่อว่า อีโมติคอนซิมโบลิสม์ มีลักษณะเฉพาะตัวอย่างน่าสนใจ
อีโมติคอนซิมโบลิสม์ สรรสร้างจาก emoticons หรือภาพสัญลักษณ์ความรู้สึกที่เราเห็นได้ตาม social media ทั้งหมด 22 ภาพแตกต่างกัน และประกอบกันคล้ายคำว่า “กู” ในภาษาไทย แม้จะมีลักษณะการนำเสนอคล้ายวรรณรูป แต่ อีโมติคอนซิมโบลิสม์ กลับแตกต่างออกไป
วรรณรูป (concrete poetry)[1] คือรูปแบบหนึ่งของกวีนิพนธ์ซึ่งมาจากการเรียงข้อความ (จากคำ) ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ลักษณะการเขียนดังกล่าวเอื้อให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงนัยยะของข้อความและภาพได้ ถือว่าเป็นรูปแบบที่กระตุ้นให้เกิด “การอ่านระหว่างบรรทัด” ได้อย่างดี แต่ อีโมติคอนซิมโบลิสม์ มีลักษณะกลับด้าน เพราะเรียบเรียงจากภาพกลายเป็นคำ
จากตัวบท เราสามารถอ่าน เนื้อหาในตอนต้นได้ว่า คำว่า “กู” หมายถึงตัวตนของบุคคลหนึ่ง และแต่ละบุคคลก็ถูกประกอบสร้างด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย (สุข ทุกข์ เศร้า โกรธ ฯลฯ) แต่การเลือกใช้ emoticons ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารใน social media ก็แฝงนัยยะว่า emoticons ต่าง ๆ ที่เลือกใช้คือวิธีการนำเสนอตัวตนในพื้นที่โลกเสมือน ไม่ใช่รูปแบบภาษาในพื้นที่โลกจริง เท่ากับว่ามีนัยยะเรื่องความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เป็นในโลกจริงและสิ่งที่ปรากฏในโลกเสมือน
มากไปกว่านั้น ในโลกสมัยใหม่ บทบาทของโลกเสมือนกลับมีความสำคัญมากกว่า จนทำให้คนตัดสินตัวตนในโลกจริงผ่านตัวตนในโลกเสมือนไปโดยปริยาย
นี่อาจเป็นเหตุผลที่จุดเริ่มต้นของตัวอักษร “ก” ในคำว่า “กู” (โดยปกติเริ่มเขียนจากฐานด้านหน้าแล้วลากขึ้นไปลงด้านหลัง) จึงเป็น emoticon รอยยิ้มบ่งบอกถึงความสนใจและความสนุกสนาน แต่กลับจบที่ปลายสุดของพยัญชนะด้วย emoticon แสดงความงงงวย กระอักกระอ่วนใจ
และหัวของตัวสระ “ู” เป็น emoticon ยิ้มแย้ม แต่จบลงด้วย emoticon ครุ่นคิด ซึ่งสะท้อนนัยยะความไม่เข้าใจ อาจหมายถึงการสื่อสารที่ไม่ประสบความสำเร็จ และความเข้าใจผิดในตัวตนระหว่างการสนทนา
ทว่า นัยยะดังกล่าวกลับซ่อนความตลกร้ายไว้อีกระดับหนึ่ง หากเราพิจารณาในมุมมองภาษาศาสตร์ ทั้ง emoticons ตัวอักษร และคำ คือสัญญะทางภาษาที่สังคมประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการสื่อสาร[2] ในขณะเดียวกัน คนก็เรียนรู้โลกผ่านสัญญะ และสัญญะก็เป็นตัวประกอบสร้างบุคลิกภาพเฉพาะบุคคลขึ้นมา[3] หมายความว่าสังคมสร้าง emoticons ขึ้นเป็นตัวแทนความรู้สึกของบุคคล แต่ในทางกลับกันคนก็เรียนรู้ที่จะแสดงออกความรู้สึกให้สอดคล้องกับ emoticons เช่นกัน[4]
การหยิบเอาลักษณะสำคัญของความรู้สึกออกมาเป็น emoticons หรือความรู้สึกสำเร็จรูป กลายเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และการพิจารณาความรู้สึกนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง มากไปกว่านั้น ความรู้สึกสำเร็จรูปเหล่านี้ยังเป็นเพียงตัวเลือกที่สังคมกำหนดไว้ เพื่อลดทอนความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการแสดงออก
จึงทำให้เกิดข้อสังเกตว่า เราแสดงตัวตนผ่าน emoticons ? หรือ emoticons กำกับการแสดงตัวตนของเรา ?
แล้วตัวตนของบุคคลจะเรียบแบนแค่ไหน หากพึงพอใจกับแค่การแสดงความรู้สึกตามตัวเลือก emoticons ?
ข้อจำกัดในการแสดงความรู้สึกจึงไม่ได้ก่อให้เกิดแค่ความเข้าใจผิดในตัวตนโดยผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงความหลงผิดในตัวตนโดยตนเอง เพราะคุ้นชินกับการแสดงออกด้วยความรู้สึกสำเร็จรูปตามความคาดหวังของสังคม ด้วยมุมมองนี้ จึงเข้าใจได้ว่า “กู” ใน อีโมติคอนซิมโบลิสม์ ได้สะท้อนมิติที่หลากหลายแต่ขาดความลุ่มลึกของตัวตนบุคคลในโลกสมัยใหม่ได้อย่างดี
บทกวี อีโมติคอนซิมโบลิสม์ ได้สื่อสารและเล่นกับผู้อ่านหลายลักษณะ ในแง่รูปแบบ พลัง เพียงพิรุฬห์ได้ใช้วิธีสื่อสารทางเลือกด้วยภาษาโลกเสมือนและวรรณรูปกลับด้าน ส่วนในแง่นัยยะ ผู้ประพันธ์ได้ตั้งคำถามกับวิธีการอ่านตามวิถีเดิม ซึ่งหมายความว่าหากผู้อ่านยอมรับความหมายแรกที่เห็นได้โดยง่ายในตัวบทเป็นคำตอบสุดท้ายของผลงาน และไม่ลองขุดคุ้ยเข้าไปในความเข้าใจของตนเอง ก็เท่ากับว่าผู้อ่านก็คงไม่ต่างอะไรจากเครื่องแสดงออกความคิดสูตรสำเร็จ
[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Concrete_poetry
[2] https://www.youtube.com/watch?v=rEgxTKUP_WI
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Sign_language
[4] https://en.wikipedia.org/wiki/Semiotics