บทความวิเคราะห์ผลงาน ‘ความงามใต้วงแขน’

ศิลปิน สุทธิศักดิ์ ภูธรารักษ์

ผลงานศิลปะที่ดึงดูดสายตาด้วยอาการของผู้หญิงที่กำลังโพสท่าในลักษณะที่เห็นได้ตามสื่อโฆษนาผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน โดยค่อนไปในลักษณะที่เกินจริง (Exaggeration) เพื่อล้อเลียน โดยชูแขนหักศอกอย่างผิดธรรมชาติเพื่ออวดบริเวณใต้วงแขน ทว่าใต้วงแขนนั้นกลับไม่ได้มีลักษณะที่ขาว เรียบเนียน ไร้ขนปกคลุมอย่างที่ผู้หญิงซึ่งปรากฏอยู่ตามสื่อโฆษนาเป็น ตรงกันข้ามศิลปินกลับใช้ขนที่ยาวเสียจนสร้างความสะพรึงให้กับผู้พบเห็น รายละเอียดในชิ้นงานนอกเหนือไปจากความเกินจริงที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังนำเสนอความเป็นผู้หญิงผ่านรูปแบบของศิลปะล้านนา เห็นได้จากการปั้นแต่งเครื่องหน้า ขณะที่การประดับเครื่องแต่งกายด้วยเทคนิค ‘งานกระจกสี’ (Stained glass) ที่เริ่มก้าวมาอยู่ในฐานะงานศิลปะประเภทหนึ่งอย่างเต็มตัวในยุคกลาง และโดดเด่นในศิลปะกอธิคนั้นเป็นลักธิทางศิลปะที่ให้ความรู้สึกโศกเศร้า มืดมน

รอยยิ้มไร้เดียงสาของผู้หญิงใน ‘ความงามใต้วงแขน’ ขณะที่กำลังแสดงอาการที่เกินจริงเกินงาม และมีเรือนร่างที่ชักชวนให้ผู้ชมงานมาล้อเลียน อารมณ์ขันของศิลปิน และความสนุกสนานของผู้ชมงานกลับกลายเป็นตลกร้าย หากวิเคราะห์ย้อนรอยกลับไปที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่น่าขำขันเอาเสียเลย

 

คำว่า ความงาม’ กับ ‘ใต้วงแขน’ ของสตรีเพศ

 

            การถอดรื้อความหมายของงานศิลปะแต่ละชิ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีความหมายที่แปรผันตามประสบการณ์ของผู้ชม มุมมองที่เปลี่ยนไปของผู้ชมเปลี่ยนความหมายของงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้ราวกับเปลี่ยนคนแปลกแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จักภายในพริบตา ศิลปินอาจบอกเล่าถึงความคิดของตนอยู่ไม่กี่มากน้อยผ่านผลงาน หรือแม้แต่กระทั่งไม่ต้องการบอกอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าศิลปินได้ทิ้งคำใบ้ที่ค่อนข้างชัดเจนเอาไว้ และให้ความสนใจกับคำว่า ‘ความงาม’ ที่ปรากฏในชื่องาน ‘ความงามใต้วงแขน’ เป็นพิเศษ จึงเริ่มต้นถอดรหัสโดยดึงเอาคำว่า ‘งาม’ มาเปรียบเทียบกับภาพผลงานที่ปรากฏอยู่ สิ่งที่โดดเด่นบนผลงานนี้คือ ขนรักแร้ที่ยาวเกินจริง และเห็นได้โจ่งแจ้งจากท่าทางที่จงใจขับเน้นให้ต้องมองบริเวณใต้วงแขนก่อนที่จะให้ความสนใจกับใบหน้าเสียอีก

หากนำเอาค่านิยมผู้หญิงไทยในปัจจุบันมาใช้เป็นเกณฑ์วัดหญิงสาวที่ชื่อ ‘ความงามใต้วงแขน’ คงต้องให้ความเห็นอย่างน่าเสียใจว่าหญิงสาวคนนี้ ‘ขี้เหร่’ เหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ศิลปินก็ได้ยืนยันอย่างแข็งขันเอาไว้ดังที่ปรากฏในชื่องานว่า ‘งาม’ แต่กลับจงใจสร้างรูปแทนในลักษณะที่บิดเบือนจากความจริง (Misrepresention) ซึ่งแตกต่างกับการสร้างภาพแทน (Represention) เพื่อผลิตซ้ำมายาคติให้สังคม ผู้หญิงใน ‘ความงามใต้วงแขน’จึงถูกแสดงออกในรูปแบบที่สวนทางกับค่านิยมความงามตามยุคสมัย โดยมีใบหน้าไปจนถึงใต้วงแขนที่ดำสนิท ผิวขรุขระ ใบหน้าไม่เป็นรูปไข่ หุ่นไม่เพรียวลม ซึ่งลักษณะของหญิงสาวที่ปรากฏในผลงานศิลปะดังที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงใบแบบที่สื่อต่างๆ เลือกมาใช้เป็นตัวแทนของผู้หญิงสวย

การใช้ภาพแทน หรือรูปแทน (Representation) เพื่อแสดงถึงอุดมคติต่อเพศหญิงผ่านสื่อในรูปแบบของงานศิลปะ มีมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 16 โดยฝีมือของศิลปินซึ่งล้วนแต่เป็นเพศชาย โดยสะท้อนให้เห็นถึงผู้หญิงตามค่านิยมความงามในแต่ละยุคสมัยมากกว่าจะนำเสนอ ‘ผู้หญิงจริง’ หรือบิดเบือน ‘ผู้หญิงจริง’ เพื่อให้อยู่ใต้กรอบที่มีบรรทัดฐานความงามเพียงแบบเดียว ขณะที่ผลงาน ‘ความงามใต้วงแขน’ กลับนำเอาลักษณะที่สวนทางกับค่านิยมมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรักแร้ของผู้หญิง ที่มีเกณฑ์วัดตายตัวยิ่งกว่ารูปร่างหน้าตา ดังจะเห็นได้ตามสื่อและ เวทีประกวด ว่าต้องเรียบเนียน ขาว ไร้ขนปกคลุม ขณะที่ศิลปินเลือกจะปั้นแต่งผู้หญิงที่กำลังอวดขนรักแร้ และบอกว่านี่เป็นรักแร้ที่สวย

หากใช้เหตุผลตามหลัก การคัดเลือกทางเพศ (Sexual selection) มาอธิบาย อาจจะกล่าวได้ว่าการที่ผู้ชายจะมองว่าผู้หญิงผิวดำ หยาบกร้าน ขนดกว่าสวยนั้นเป็นเรื่องฝันเฟื่อง สีแดงบนริมฝีปากของผู้หญิง หน้าอกงาม ผิวพรรณนวลเนียน ล้วนแต่มีเหตุผลตามหลักการคัดเลือกทางเพศเพื่อให้ดึงดูดเพศตรงข้าม ทว่ากระบวนการศิลปะกลับมีพลังอำนาจขนาดที่จะทำให้สิ่งเคยขี้เหร่กลับดูสวยงามขึ้นมาได้ แม้ว่าความขี้เหร่ตามค่านิยมนั้นจะเป็นธรรมชาติแท้ๆ ที่ปราศจากการประดิษฐ์ และปรุงแต่งก็ตาม

เหตุใดศิลปินจึงเลือกที่จะนำอำนาจของศิลปะมาใช้ในลักษณะนี้?

 

ศิลปะกับการต่อสู้เพื่ออำนาจแห่งเสรีภาพ

 

เมื่อศิลปะในฐานะเครื่องมือของรัฐและชนชั้นสูง เริ่มคืนกลับมาเป็นเรื่องของกระฎุมพี ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดให้เป็นแค่ของชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่ศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเสรีภาพจะมีได้

นับตั้งแต่หลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) เป็นต้นมา การเคลื่อนออกจากศิลปะยุคคลาสสิค (Classic Art) มาจนถึงศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) รูปแบบที่เปลี่ยนไปแสดงให้เห็นถึงอำนาจ และ เสรีภาพของศิลปินที่ได้รับมากขึ้น จากศิลปะแบบดั้งเดิมที่เคยรับใช้รัฐโดยทำหน้าที่ในฐานะศิลปะที่นำเสนอภาพแทน (Representational Art) หรือแม้แต่เป็นศิลปะที่ใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Art) ทั้งในทางการเมือง และศาสนา ซึ่งศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) คือความก้าวหน้าของโลกศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากการเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ศิลปะรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นได้จากการที่ศิลปินได้มีความนึกคิดเป็นอิสระปลอดจากอำนาจนำ เมื่อศิลปินมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ วิถีของศิลปะจึงเปลี่ยนแปลงไปจากวีถีเดิมๆ และได้รับโอกาสในการขับเคลื่อนความคิดในสังคม

ศิลปะเรียลลิสม์ (Realism) หรือ ศิลปะสัจนิยม เป็นลักธิศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ศิลปินได้แสดงออกถึงความปรารถนาที่จะถ่ายทอดความเป็นจริงออกมามากกว่าจะถ่ายทอดอุดมอคติภายใต้กรอบคิดศาสนาศิลปะเรียลลิสม์ จึงถือเป็นทางแยกออกมาศิลปะเดิมๆ ที่มีสถานะเป็นแค่เครื่องมือรับใช้ทางการเมืองและศาสนา และกล้าที่จะนำเสนอภาพความจริงที่ไม่ได้มีแต่เรื่องสวยงามอีกต่อไป การพยายามนำเสนอขนบริเวณใต้วงแขนของผู้หญิงใน ‘ความงามใต้วงแขน’เป็นความพยายามที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ แม้ว่าจะขัดกับมายาคติในสังคมเฉกเช่นเดียวกับที่ศิลปินลักธิเรียลลิสม์เคยพยายามต่อสู้มา นอกจากนี้รูปแบบของ ‘ความงามใต้วงแขน’ ยังมีความใกล้เคียงกับศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) หรือศิลปะลักธิแสดงพลังอารมณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริง การเคลื่อนไหวรุนแรงตามสัญชาติญาณ เห็นได้จากสัดส่วน การใช้สี และท่าทางที่ขัดแย้งจากหลัก Academic แต่เป็นไปเพื่อแสดงออกถึงอารมณ์จากจิตใต้สำนึก

ทั้งนี้การอ้างถึงศิลปะสมัยใหม่ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นลักธิทางศิลปะตะวันตกนั้น เป็นเพียงการเขียนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดและบทบาทของศิลปะมากกว่าจะเป็นการพยายามจัดหมวดหมู่ให้กับ ‘ความงามใต้วงแขน’ ซึ่งหากให้วิเคราะห์ในด้านของรูปแบบ ควรจะเทียบกับศิลปะตะวันออกมากกว่า

นอกจากนี้ ‘ความงามใต้วงแขน’ ยังมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับป๊อปอาร์ต (Pop Art) ลักธิทางศิลปะในช่วงท้ายๆ ของศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) ซึ่งศิลปะป๊อปอาร์ตได้เกิดขึ้นมาพร้อมกระแสต่อต้านความเป็นบริโภคนิยม (Consumerism) ศิลปะป๊อปอาร์ตที่รับอิทธิพลทางความคิดจากศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) นั้นเป็นศิลปะที่มีพลังในการเปลี่ยนสิ่งของธรรมดาให้เป็นสิ่งพิเศษ เปลี่ยนสิ่งที่ไม่งามให้งามได้

‘ความงามใต้วงแขน’ เองก็มีความคิดที่ต่อต้านความเป็นบริโภคนิยมเช่นเดียวกัน ในเมื่อความรู้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้อธิบายถึงเหตุผลที่สากลโลกมีกฏเกณฑ์ทางความงามของผู้หญิงร่วมกันว่าด้วยหลักการคัดเลือกทางเพศ (Sexual selection)

เหตุใดศิลปินจึงยืนยันจะนำพลังอำนาจของศิลปะมาเปลี่ยนให้ผู้หญิงที่ขี้เหร่(จากทัศนะของสังคม)มาเป็นผู้หญิงที่สวย(จากทัศนะส่วนตัว)?

 

ความงามใต้วงแขนกับ Individualism

และ ความหลากหลายของมนุษย์

 

ความพยายามของศิลปินที่ดึงดันจะนำเสนอลักษณะอันไม่พึงประสงค์ของผู้หญิง(ตามค่านิยม)โดยใช้กลไกของศิลปะมาเปลี่ยนความไม่งามให้กลายมาเป็นความงาม เป็นเพียงสรุปความแบบหยาบๆ ในด้านเดียว เนื่องจากในธรรมชาติแท้แล้วไม่มีทั้งถูกหรือผิด ไม่มีทั้งงามหรือไม่งาม ธรรมชาติเพียงเป็นไปอย่างนั้นเอง ซึ่งหากตัดเรื่องค่านิยมความงามของผู้หญิงอันเป็นจริตเฉพาะมนุษย์ออกไป ขนรักแร้ก็คือธรรมชาติดั้งเดิม ส่วนความงามของรักแร้ที่เรียบเนียนไร้ขนก็เป็นเพียงผลผลิตอย่างหนึ่งของวาทกรรม (Discourse)

การคัดเลือกทางเพศ (Sexual selection) เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่แตกต่างจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) ลักษณะที่เพศผู้ส่วนใหญ่ชื่นชอบ เป็นลักษณะที่ทำให้เพศเมียถูกเลือก และลักษณะนั้นจึงจะได้รับการส่งต่อไปยังลูกหลาน ในทางกลับกันลักษณะของเพศผู้ที่เพศเมียส่วนใหญ่ชื่นชอบก็จะเป็นลักษณะที่มีโอกาสได้ส่งต่อไปเช่นเดียวกัน ซึ่งผลจากการคัดเลือกทางเพศเป็นได้แค่ข้อสรุปถึงคุณลักษณะที่หลงเหลืออยู่เยอะที่สุด ทว่ากรอบคิดแบบปัจเจกชนนิยม (Individualism) กลับมองว่าความงาม และไม่งามนั้นควรเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (Individual) ซึ่งศิลปินในฐานะปัจเจกบุคคลได้พยายามส่งสารออกมาว่า ‘ไม่มีอะไรที่ไม่งามในความเป็นธรรมชาติแท้’

ตัวตนของศิลปินมีความเป็นปัจเจกชนนิยม (Individualism) ค่อนข้างสูง ซึ่งปัจเจกชนนิยม (Individualism) เป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อความเป็นชุมชนนิยม (Collectivism) เดิมปัจเจกชนนิยมที่เป็นแนวคิดตะวันตกนั้นมีมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ ในต้นศตวรรษที่ 16 ขณะที่ปัจเจกชนนิยมใหม่ (New Indivudualism) เป็นแนวคิดที่เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงศตวรรษที่ 18 พร้อมกับการเติบโตของประชาธิปไตย

“สำนึกเชิงปัจเจกชนนิยมใหม่จะเป็นสำนึกที่เน้นความเป็นปัจเจกของตนเองอย่างเต็มเปี่ยมโดยที่จะไม่ผูกพันกับระบบคุณค่าใดๆ ของสังคม ซึ่งเป็นสำนึกส่วนตัวที่แยกออกจากสรรพสิ่ง (Individualism as isolated privatism) กรอบการคิดและอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดจะหมกมุ่นอยู่กับตัวตนของตนเอง และพร้อมที่จะจัดการทุกอย่างรอบตัวเพื่อตอบสนองหรือเติมเต็มความเป็นตัวเอง (Self-realization and Self- fulfillment)” อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2560

ความคิดแบบปัจเจกชนนิยมที่เชื่อว่าทุกคนมีความงามเป็นเรื่องเฉพาะของตัวเอง ได้ต่อสู้กับความคิดแบบชุมชนนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำหนดร่วมกัน

อีกหนึ่งแนวคิดที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สถานภาพของเพศหญิงได้ คือทฤษฎี Hegemony (การครองอำนาจนำ) ของกรัมชี่ (Antonio Gramsci) ,1891-1937 นักทฤษฎีการเมืองชาวอิตาลีสายมาร์กซิสม์ ซึ่งอธิบายถึงภาวะการครอบงำทางความคิดและจิตใจโดยผู้มีอำนาจ โดยหากมองสถานะของผู้หญิงผ่านผลงาน ‘ความงามใต้วงแขน’ และจัดให้เป็นผู้มีสถานะรอง (Subaltern) กลุ่มหนึ่งที่ถูกจัดระเบียบทางเพศเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการปกครองโดยชนชั้นปกครอง และเพศชาย(ในกรณีที่จัดว่าเป็นเพศที่มีสถานะสูงกว่าเพศหญิง)

กฎเกณฑ์ความงามของเพศหญิงที่วางมาตรฐานโดยเพศชายเป็นสิ่งที่ถูกทอนอำนาจลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เพศหญิงไม่ได้เป็นผู้มีสถานะรอง (Subaltern) อีกต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการต่อสู้ของกลุ่มเฟมินิสต์ และความเบ่งบานของอำนาจประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ถึงกระนั้นค่านิยมเรื่องรักแร้เรียบเนียนของผู้หญิงกลับไม่เจือจางลงแม้ในสังคมร่วมสมัย

ทั้งนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงสถานะของเพศหญิงแบบรวมๆ ในระดับสากลถึงสถานภาพของเพศหญิงที่ถูกกดทับด้วยมาตรฐานความงามโดยเพศชาย อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมอุษาคเนย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมล้านนานั้น มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก แม้จะถูกอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกเข้ามาครอบทับในภายหลัง รัฐที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดเพศวิถีมากขึ้น และการเข้ามาแทนที่ด้วยอำนาจปิตาธิปไทย(ชายเป็นใหญ่)ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นสาเหตุให้มุมมองที่มีต่อเพศหญิงด้อยลง

อย่างไรก็ดี ในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมนั้นรัฐยังค่อนข้างให้อิสระในเรื่องของเพศวิถี เรื่องเพศยังเป็นสิ่งที่ชนชั้นล่างมีอิสระที่จะจัดการกันเองก่อนที่รัฐจะเข้ามาระเบียบทางเพศ ผู้หญิงยังมีอิสระที่จะได้จัดการ(อีกนัยหนึ่งคือต่อสู้)กันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีอำนาจในพื้นที่ของครัวเรือน

 

ผู้หญิงล้านนาต่อสู้กับอะไร?

 

            การเข้ามาแทนที่ของปิตาธิปไตย (Patriarchy) โดยนำเข้าจากวัฒนธรรมอื่น(อิทธิพลจากกรอบคิดแบบคริสเตียน) หรือเป็นเพราะฐานเดิมในวัฒนธรรมไทยนั้นอำนาจปิตาธิปไทยค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อน ถกเถียงกันไม่จบสิ้น

ความหวาดหวั่นที่มีต่อความงามของสตรีเพศ เป็นแนวคิดที่ปรากฏอย่างรุนแรงในวัฒนธรรมของคริสเตียนและ จีนโบราณ   ถึงกระนั้นผู้หญิงทั้งหลายตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ก็ยังเพียรพยายามที่จะสวยงามตามค่านิยมในแต่ละวัฒนธรรม แม้ในบางกรณีจะเป็นเหตุให้เจ็บปวดถึงตายก็ตาม เช่น ประเพณีการตัดแต่งอวัยวะเพศของผู้หญิงมุสลิม การเย็บปิดช่องคลอด(ด้วยเหตุผลทางความงาม) เพียงเพราะความชมชอบของเพศชายที่ปรารถนาจะได้ควบคุมความต้องการทางเพศของผู้หญิง

ผู้หญิงล้านนาในอดีตเองก็ไม่พ้นจากสถานะที่เป็นรองผู้ชาย แต่อย่างน้อยในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมนั้นไม่เคยมองความงามของเพศสตรีเป็นสิ่งชั่วร้าย ตรงกันข้ามความงามของผู้หญิงเป็นสิ่งดีงามน่าชื่นชม เห็นได้จากวรรณกรรม และบทกวีไทยทั้งภาคกลางและ ล้านนาที่เขียนชื่นชมความงามของสตรีเพศอันปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่มากมาย

ทว่าในความชื่นชมนั้นก็ตามมาด้วย ‘ขึด’ มากมาย ให้ผู้หญิงล้านนาต้องปฏิบัติเพื่อที่จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ความงามที่ผู้ชายเป็นคนบัญญัติขึ้น แม้ในปัจจุบันสถานการณ์ด้านเสรีภาพของผู้หญิงจะดีขึ้นมาก ทว่าการหลุดพ้นจากอำนาจปิตาธิปไตย อาจเป็นแค่การเปลี่ยนจากกรอบหนึ่ง(ปิตาธิปไตย)มายังอีกกรอบหนึ่ง(บริโภคนิยม)?

 

Pop Art และ Consumerism ผลิตภัณฑ์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

            การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในระบบอุตสาหกรรมสินค้าถูกผลิตได้คราวละมากๆ ด้วยต้นทุน และแรงงานที่ลดลง การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ปฏิวัติเศรษฐกิจและ เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมในสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังทำให้โลกศิลปะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีด้านสื่อโฆษนาและ สื่อสิ่งพิมพ์ทำให้ศิลปะถูกนำมาใช้ในฐานะพาณิชย์ศิลป์ (Commercial art) นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ทำให้ศิลปะในฐานะสินค้าสามารถผลิตซ้ำในปริมาณมากได้ นำมาสู่ความวิตกกังวลว่าศิลปะจะสูญเสียคุณค่าความเป็นอันเดียวชิ้นเดียวไป

ศิลปะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความเป็นบริโภคนิยม ในทางกลับกันศิลปินบางกลุ่มก็ได้นำศิลปะที่ผลิตจากเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มาย้อนรอยต่อสู้กับความเป็นบริโภคนิยมในเชิงเสียดสีได้อย่างเจ็บๆ คันๆ

ป๊อปอาร์ต (Pop art) จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950 พร้อมๆ กับกระแสความเป็นบริโภคนิยมที่เติบโตไปพร้อมๆ กัน

บริโภคนิยม(Consumerism) เป็นผลจากปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขยายตัวของกระฎุมพี(ชนชั้นกลาง หรือพ่อค้า)สู่นายทุนที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การขยายตัวของภาคธุรกิจมีผลให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อมากขึ้น อิทธิพลจากสื่อโฆษนามีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามาตรฐานการดำรงชีวิต (standard of living) จะดีขึ้นได้ด้วยการบริโภค

‘ความงามใต้วงแขน’ มีรูปแบบที่แตกต่างจากศิลปะป๊อปอาร์ตอย่างมาก การนำศิลปะล้านนามาใช้นำเสนอแทนภาพของผู้หญิงล้านนาตามจิตสำนึกของศิลปิน ด้วยวิธีการทำมือที่ผลิตได้เพียงคราวละชิ้น ขณะที่ศิลปะป๊อปอาร์ตหยิบจับความเป็นวัตถุมานำเสนอ โดยเฉพาะวัตถุที่มีสัญลักษณ์แบรนด์เนมแปะทับ และนำระบบการผลิตในอุตสาหกรรมมาใช้กับงานศิลปะ ทว่ารูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนั้นกลับเชื่อมโยงเข้าหากันได้ด้วยเนื้อหางานที่ต่อสู้กับบริโภคนิยม (Consumerism) เช่นเดียวกัน

เมื่อผู้หญิงต้องบริโภคเพื่อได้รับการยอมรับว่ามีชีวิตและตัวตนที่มีมาตรฐานการดำรงชีวิต (Standard of living) และมีความสามารถในการจัดการตัวเอง (Ethics of the self) ทว่าพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามของผู้หญิงกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้หญิงตกอยู่ในแนวทางของ ‘บริโภคนิยมทางเพศ’ (Sexual consumerism) ที่เสพติดการบริโภคเพียงเพื่อให้ถูกยอมรับตามมาตรฐานที่นายทุนพยายามสร้างขึ้นเพื่อที่จะได้ขายสินค้า และความพยายามควบคุมของรัฐ ผ่านอิทธิพลของสื่อโฆษนาต่างๆ

มายาคติที่ครอบงำความเป็นเพศหญิงอธิบายได้ด้วย Hegemony(อำนาจครอบงำ) ของ แอนโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) ได้พูดถึงกลไกการใช้อำนาจเพื่อครอบงำผู้มีสถานะรอง (Subalturn) และ The History of Sexuality ของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Fucault) ว่าด้วยเพศหญิงที่ถูกครอบงำด้วยการใช้อำนาจจากการสร้าง ‘วาทกรรม’ (Discourse) ที่มีผลต่อการกำหนด ‘ความเป็นผู้หญิง’

นอกจากนี้ยังมีนักคิดหลายคน หรือแม้แต่ฝ่ายเฟมินิสต์บางกลุ่มที่ออกมาต่อต้านพฤติกรรมเสพติดการบริโภค และลดคุณค่าของตัวเองไปอยู่ในระดับเดียวกับสินค้า (Object) ของผู้หญิง

แท้จริงแล้วพฤติกรรมปรุงแต่งตัวเองของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดขนรักแร้ เป็นผลจากบริโภคนิยม หรือมีสาเหตุอื่นด้วยกันแน่?

 

พื้นเล็กๆ อย่างใต้วงแขนของผู้หญิงบอกเล่าอะไรได้บ้าง?

 

พฤติกรรมการกำจัดขนรักแร้ของผู้หญิงทั่วโลกเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 อิทธิพลของโลกตะวันตกที่ถือเป็นต้นแบบความมีอารยะธรรมได้ส่งออกวัฒนธรรม วิทยาการ ความเชื่อ ไปยังทุกพื้นที่ ซึ่งการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในไทยเห็นได้ชัดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กรอบคิดจากคริสเตียนได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพศวิถีในวัฒนธรรมไทย เช่น วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่เป็นแบบชายหนึ่งหลายหญิง (Polygamy) ถูกเปลี่ยนเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง (Monogamy) และมุมมองต่อความเป็นเพศหญิงที่เลวลง(กรอบคิดแบบคริสเตียนมองผู้หญิงอย่างเลวร้าย แม้แต่เรื่องเพศก็เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย)

จากบทความ ‘Caucasian Female Body Hair and American Culture’ ของคริสติน โฮป (Christine Hope) ได้นำเสนอว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ได้นิยมการกำจัดขนรักแร้ หรือขนที่บริเวณหน้าแข้ง โดยสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากสองสื่อคือนิตยสารผู้หญิงอย่าง Harper’s Bazar และ McCall’s ได้นำความรู้ทางการแพทย์มาโน้มน้าวถึงข้อดีในการกำจัดขนให้แก่ผู้หญิงอเมริกัน ทั้งในหัวข้อด้านสุขภาพ และความงามของผู้หญิง

เมื่ออิทธิพลความรู้ทางการแพทย์ของตะวันตกได้แพร่ขยายไปทั่วโลก ความรู้ทางการแพทย์ไม่เพียงแต่ถูกนำไปใช้เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ความรู้ในฐานะอำนาจรูปแบบหนึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้เพื่อควบคุมประชาชน

อย่างไรก็ตาม การกำจัดขนรักแร้ของผู้หญิงไทย พบหลักฐานได้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งแปลว่าผู้หญิงไทยนิยมกำจัดขนรักแร้มาตั้งแต่ก่อนที่การกำจัดขนรักแร้ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นที่นิยม และแพร่กระจายค่านิยมการโกนขนรักแร้ไปทั่วโลก

และหากย้อนกลับไปยังวัฒนธรรมในสังคมโบราณหลายๆ แห่ง ก็ได้พบว่ามีการกำจัดขนตามอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการตัดแต่งร่างกาย ปรุงแต่งอวัยวะเพศมาตั้งแต่ก่อนที่อารยธรรมคริสเตียนแพร่กระจายอิทธิพลเสียอีก

กล่าวได้ว่าพฤติกรรมปรุงแต่งร่างกายของทั้งเพศหญิงและเพศชายเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามนั้น เป็นวัฒนธรรมร่วมที่พบให้เห็นได้ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป และมีความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของบางพื้นที่

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสบริโภคนิยม (Consumerism) มีส่วนสำคัญในการผลิตซ้ำมายาคติให้กับสังคม และส่งผลให้ผู้หญิงมีภาพลักษณ์ที่ ‘ถูกคาดหวังให้ต้องเป็น’ ชัดเจนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อโฆษนา และอำนาจของชาติตะวันตกที่ส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลก แต่ความจริงอีกด้านก็คือ การปรุงแต่งรูปลักษณ์ของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตั้งแต่ในสังคมโบราณ โดยเฉพาะการกำจัดขนตามส่วนต่างๆ ของร่างผู้หญิงที่พบเห็นในบางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ก่อนที่สื่อโฆษนาจะถือกำเนิด

 

ทำไมผู้ชายถึงนิยมผู้หญิงที่ไม่มีขน?

 

            ในหลายๆ วัฒนธรรมอาจนิยมผู้หญิงที่มีความเป็นผู้ใหญ่ เซ็กซี่ ทรวดทรงชัดเจน ซึ่งแสดงออกถึงวัยเจริญพันธ์ แต่ในขณะเดียวกันก็นิยมผู้หญิงที่ดวงตาโต มือเท้าเล็ก ไม่มีขนรักแร้และอวัยวะเพศ อันเป็นลักษณะของความเป็นเด็ก

เหตุใดผู้ชายจึงต้องการผู้หญิงที่มีลักษณะของความเป็นเด็ก?

การต่อสู้คานอำนาจกันระหว่างสองเพศก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่พบเห็นได้ในตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้อำนาจของเพศชายเพื่อควบคุมเพศหญิง เฉกเช่นเดียวกับการที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายดูแล(อีกนัยหนึ่งคือควบคุม)เด็กๆ แต่การควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กนั้นแตกต่างกับการที่เพศชายควบคุมเพศหญิง เพราะเด็กยังมีวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทว่าเพศหญิงยังคงเป็นเพศหญิงอยู่วันยังค่ำ เมื่อเส้นแบ่งระหว่างคำว่าดูแล (Takecare) กับควบคุม (Control) นั้นบางเบา ความปรารถนาให้ผู้หญิงคงลักษณะของความเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา อ่อนเอ เพื่อที่ให้ง่ายดายต่อการดูแล(หรือควบคุม) โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านความพยายามที่จะหยุดลักษณะอันแสดงถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และแข็งกร้าว อย่างการมีขนปกคลุมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ไม่เพียงแต่ขนเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเป็นผู้ใหญ่(มากขึ้น) ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ขนยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศชายอีกด้วย โดยในช่วงระหว่างที่เด็กผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั้นเกี่ยวพันกับฮอร์โมนเพศ คือเอสโทรเจน และเทสโทสเทอโรน โดยฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน( Testosterone) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือฮอร์โมนเพศชายนั้น ความรู้ทางการแพทย์ได้ออกมาบ่งชี้ว่าผู้หญิงที่มีการหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในปริมาณมาก จะทำให้มีขนตามร่างกายเยอะคล้ายเพศชาย นอกจากนี้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่หลั่งออกมาในปริมาณที่มากผิดปกติยังเป็นปัญหาต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง

ขนจึงเป็นได้ทั้งสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้ใหญ่ หรือในอีกแง่หนึ่งขนคือสัญลักษณ์ของความเป็นเพศชาย

นอกจากนี้ยิ่งได้คู่เป็นผู้หญิงที่อายุน้อย ย่อมเป็นผลดีกับผู้ชายที่สามารถผลิตอสุจิได้แทบตลอดชีวิต ซึ่งหมายความว่าการได้ผู้หญิงอายุน้อยมากๆ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงที่มีลักษณะของความเป็นเด็กจะดึงดูดผู้ชายได้

เส้นแบ่งระหว่างการควบคุมกับดูแลนั้นบางเบา แต่ผลของความแตกต่างนั้นกล่าวได้ว่ากลับหัวกลับหางเลยทีเดียว เพราะผู้หญิงอาจแสร้งทำเป็นอ่อนแอ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา เพื่อใช้ประโยชน์จากผู้ชาย(ให้ผู้ชายลงแรงมาดูแล)ได้เช่นกัน ซึ่งหากมองในด้านนี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นฝ่ายควบคุมผู้ชาย

ในสภาวะสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ เสรีภาพแห่งความงามเป็นสิ่งที่เจริญงอกงาม เช่น Conchita Wurst นักร้องชายไว้หนวดแต่มีรูปลักษณ์แบบหญิงสาว, Chantelle Brown-young นางแบบที่เป็นโรคผิวด่าง เรื่องราวของกลุ่มนี้ที่ผ่านการนำเสนอท่ามกลางพื้นที่ที่มีเสรีภาพ ได้ทำลายกรอบคิดความงามแบบเดิมๆ ว่า เพศหญิงต้องมีลักษณะของความเป็นเพศหญิง หรือ เพศชายต้องมีลักษณะของความเป็นเพศชาย

โลกร่วมสมัยดำเนินมาสู่แนวทางที่เพศ (Gender) ไม่จำเป็นจะต้องแสดงออกถึงความเป็นเพศ (Sex) ที่ตรงกับอวัยวะเพศตั้งต้นอีกต่อไป

ทฤษฏีเควียร์ (Queer Theory) เป็นแนวคิดหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาได้ในสังคมเสรีภาพ และสนับสนุนให้มนุษย์มีเสรีภาพในการกำหนดรูปลักษณ์ในแบบที่ตนเองพึงพอใจ มากกว่าจะถูกครอบงำทางวัฒนธรรม และมายาคติความเป็นเพศใดเป็นหนึ่ง และต่อต้านการจัดระเบียบทางเพศ ซึ่งคาดหวังได้ถึงเสรีภาพในเรื่องเพศของมนุษย์ต่อจากนี้ไป

อ้างอิง

เพนธ์ ฮันส์. 2547. ประวัติศาสตร์ล้านนาฉบับย่อ, เชียงใหม่ : ซิลเวอร์ม
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. 2520. การวิเคราะห์สังคมเชียงใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามต้นฉบับใบลานในภาคเหนือ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรณู อรรฐาเมศร์. 2528. โลกทัศน์ชาวล้านนาไทยจากวรรณกรรม, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฆ
ปิยพร คลศิลป์. 2552. การศึกษาบทบาทของผู้หญิงในนิทานพื้นบ้านล้านนา, เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ว/ภน 305.42 ป3611ก
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2552. เพศ : จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ, มติชน
น.พ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา. 2554. เรื่องเล่าจากร่างกาย : เข้าใจร่างกาย พฤติกรรมและธรรมชาติ ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ, ชัชพลบุ๊คส์
ธาวิต สุขพานิช. 2544. 108 เรื่องที่หญิงไทยควรรู้. พ๊อพบุคส์ พับบลิค
เคลาส์ ฮอนเนส. 2009. ป๊อปอาร์ต. เดอะเกรทไฟน์อาร์ท, บจก.
Christine Hope. Caucasian Female Body Hair and American Culture. The Journal of American Culture, 93-99.
Edward J. Woodhouse. CONSUMERISM. Encyclopedia of Science, Technology, and Ethics, 427-429.

วัชรพล พุทธรักษา. แนวความคิดการครองอำนาจนำของกรัมชี บททดลองเสนอในการอภิปรายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทย. 5-27
พล อิฏฐารมณ์. 2560. การกำจัดขนรักแร้-ขนหน้าแข้งในผู้หญิง ประเพณีที่เพิ่งมีช่วงสงครามโลก ผลจากการตลาด, https://gmlive.com/hair-removal-traditions: gmlive
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. 2560. สำนึก ‘ปัจเจกชนนิยมใหม่’, http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641838: กรุงเทพธุรกิจ
เกษวรา นาทวีไพโรจน์. 2559. เคล็ดลับ “การถอนขนรักแร้” ของสาวไทยสมัยโบราณ, https://www.tsood.com/contents/152462: คลังประวัติศาสตร์ไทย
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. 2561. Pop Art ศิลปะประชานิยม, https://themomentum.co/pop-art: The Momentum
Medically reviewed. 2018. Polycystic Ovary Syndrome, https://www.drugs.com/health-guide/polycystic-ovary-syndrome.html: Drug.com