อะไรคือสิ่งที่บอกได้อย่างแน่ชัดว่า “เราอยู่ หรือ ถูกจัดให้อยู่ ในชนชั้นไหนในสังคม?”
ผมเองไม่มีคำตอบให้ตัวเองเหมือนกัน เหมือนกับที่ผมมายืนมองดูงานของพี่อบเชย หรือ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินที่แสดงงานนิทรรศการชื่อว่า The Broken Ladder หรือ “บันไดหัก” แล้วรู้สึกถึงกระจกบานต่างๆ ที่มองผ่านไปเห็นวัตถุที่ศิลปินได้จัดวางไว้ เป็นสิ่งที่ผมเองเข้าไปไม่ถึง ได้แต่ยืนมองดู และพิจารณาถึงสถานะภาพของตัวเองในปัจจุบัน
กระจกในนิทรรศการชุดนี้จึงให้บรรยากาศถึงความฝัน อาจเรียกได้ว่าเป็น daydream ฝันกลางวันของเราเอง ความฝันที่ทั้งผมเเละพี่อบเชยเคยมีเหมือนกันคือ “อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง” ต่างกันที่พี่อบเชยมีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว (พร้อมหนี้) และผมที่เลิกฝันมีบ้านแล้ว (แต่ยังมีหนี้อย่างอื่น) การมายืนคุยกันที่หน้ากระจกบานใหญ่ ขนาด 240×360 ซม. ที่เดินเข้ามาในนิทรรศการแล้วต้องสะดุดตาเป็นอย่างแรก หากเดินผ่านไปเฉยๆ หรือหยุดมองเพียงชั่วครู่ เราคงมองไม่เห็นอะไรนอกจากเงาของตัวเอง หรืออาจมีเงาของคนอื่นพ่วงติดมาด้วย แต่ถ้าเพ่งพินิจ เราจะเห็นความวิตกกังวล ความเครียด ความลำบาก และความเปราะบาง ของสิ่งที่เป็นอุปมาในรูปโฉนดที่ดิน ที่ฝังอยู่ในแผ่นกระจกบานนี้
กระจกและการสะท้อนย้อนคิด
Ruth Behar (2003) พูดถึง ชาติพันธ์ุวรรณา (ethnography) ว่าเป็นทั้งรูปแบบและวิธีในการแสดงออก การสะท้อนคิดย้อนคิด การใช้ผัสสะของการสะท้อนมองตัวเองนี้ช่วยค้นพบถึงสิ่งที่ผูกติดกับธรรมชาติของประสบการณ์ของบุคคล และเพื่อนำเสนอข้อค้นพบในวิธีการทางภาษาและศิลป์ที่หลากหลายขึ้น
Barbara Myerhoff และ Jay Ruby (1982) อธิบายถึงการสะท้อนย้อนคิด (Reflexivity) ในบทความเรื่อง “รอยแตกในกระจก” (A Crack in the Mirror) ว่า ภาวะที่เป็นได้ทั้งความมีจิตสำนึกเกี่ยวกับการมีจิตสำนึก การคิดเกี่ยวกับความคิด การสะท้อนกลับนี้ทำให้เกิดความตระหนักถึงการไม่มีความคิดที่ชัดเจนว่ากำลังทำอะไรอยู่ และประสบการณ์ที่ว่ามานั้นอาจทำให้ทั้งรู้สึกดีอกดีใจ หรือน่ากลัว หรืออาจเป็นทั้งสองอย่าง
Ruby นักมานุษยวิทยาเสนอให้สะท้อนมุมมองวิพากษ์ตนเองในกระบวนการทำงานออกมาด้วย เพื่อให้ตัวเองมาสอดส่องการทำงานของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง แรงจูงใจ และความกล้าต่อการเปิดเผยความกลัวที่อยู่ในส่วนลึกของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การวิพากษ์เชิงสะท้อนย้อนคิด และนำเสนอเสียงที่ตระหนักต่อตัวตนของเรา
“การเมืองและศิลปะของการสร้างภาพตัวแทนที่สะท้อนความเป็นมนุษยนิยมในรูปแบบของการมองคนอื่น การสะท้อนย้อนคิดจึงเป็นกระบวนการทำให้ตัวเองเป็น “object” ในทางหนึ่ง”
– Jay Ruby (1982)
ผมเขียนบทความเชิงสะท้อนย้อนคิดเรื่องประสบการณ์เควียร์ของตนเองในบทความล่าสุดใน The MATTER เมื่อกลับมาคิดดูแล้ว สิ่งที่มันสะท้อนความคิดตัวเองกับอดีตต่างๆ เกิดขึ้นตอนดูภาพยนตร์ ไมว่าจะเป็นเรื่อง Mysterious Skin (2004) และ Bad Education (2004) การนั่งดูจากจอโทรทัศน์ทั้งสองเรื่องนี้ พาตัวผมเองมองสะท้อนชีวิต และตะหนักถึงว่า ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองมีเส้นเรื่องที่ไม่ต่างอะไร ชีวิตของเราเองคนหนึ่งสามารถเทียบเคียงกับชีวิตของอีกคนหนึ่ง หรือหลายๆ คน และอาจเป็นเรื่องเดียวกับหลายๆ คนในสังคม เช่นเดียวกับเรื่องราวในงานของพี่อบเชย คือ “ชนชั้น” ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นทางสังคม หรือเศรษฐกิจ
ชื่องาน We all live under the same sky, but we don’t all have the same horizon, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร , 2561, เทคนิค engraving บนกระจก, ขนาด 240×360 ซม.
ภาพแทนของบ้านที่หายไป
ถึงแม้ครอบครัวของพี่อบเชยได้เลี้ยงดูเธอมาอย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าเธอมีพี่น้องหลายคน ในครอบครัวคนจีนที่รุ่นพ่อแม่อพยพมาอยู่ในกรุงเทพฯ พ่อคอยดูแลเธอโดยไม่ให้ลำบาก แต่สิ่งที่พ่อเน้นย้ำเสมอคือ การไม่เหยียดชนชั้นของเชื้อชาติคนอื่น อาจเป็นเพราะพ่อของพี่อบเชยมักถูกเรียกว่า “เจ๊ก” มาตลอด การปฏิบัติต่อคนรอบตัว จึงต้องระลึกถึงความเท่าเทียม ทำให้เมื่อหันมามองเรื่อง ชนชั้นทางเศรษฐกิจในสังคมไทย เธอจึงตั้งคำถามว่า ทำไมช่องว่างของคนจึงห่างไกลกันนัก “คนรวยก็รวยมาก คนจนก็สุดแสนจะจน” เงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ มันหายไปไหนหมด ทำไมคนส่วนใหญ่จึงแทบไม่มีเงินไว้ใช้สอยสำหรับปากท้องตัวเอง ชนชั้นกลางที่ต่างแบกรับหนี้เพื่อให้ตนเองมี “พื้นที่” สักเล็กน้อยของตนเอง ต่างต้องทำงานหนักมาก เพื่อให้ตนเองมีบ้านของตัวเองสักหลังหนึ่ง
ความคิดเรื่อง “บ้าน” จึงสะท้อนชนชั้นของคนในสังคมไทยได้ชัดเจนอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะชนชั้นไหน บ้านบ่งบอกว่าตัวเองเป็นใคร และอยู่ตรงไหนในสังคม บ้านจึงเป็นมากกว่าที่พักหลับนอน แต่คือระบบสัญญะของชนชั้นที่อิหลักอิเหลื่อ เป็นบันไดที่ต่างคนต้องปีนป่าย ทว่าไม่รับประกันได้สักทีเดียวว่า คุณจะไม่พลัดตกลงมา เหมือนผมที่โตมากับความทรงจำเรื่องบ้าน เมื่อตอนอายุ 15 ปี ได้ป่วยหนักและต้องผ่าตัดเข้าโรงพยาบาล แม่ไม่มีเงินเก็บและหลักประกันอะไรที่เอามาใช้ได้ พี่สาวบอกว่า แม่ต้องเอาบ้านเราไปจำนอง บ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์อย่างเดียวของครอบครัว การเข้าโรงพยาบาลครั้งนั้นของผมทำให้สมาชิกในบ้านจดจำไปตลอดว่า หลังจากนั้นเราต่างต้องเช่าบ้านอยู่มาตลอดจนวันนี้ การมาดูงานนิทรรศการเกี่ยวกับบ้านของพี่อบเชย ได้เชื้อชวนเอาความทรงจำเรื่องบ้านของตัวเองขึ้นมามากที่สุด และสิ่งที่สะท้อนกลับมาให้รู้สีกทั้งตัวผมเองและพี่อบเชยจากงานนี้คือ คนในบ้าน คือ พ่อของพี่อบเชย และแม่ของผมเอง
การจากไปคนในบ้าน ที่เราเปรียบพวกเขาเป็นดั่งบ้านหลังหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่หักพัง หรือ broken ในความหมายของงานนี้ ผมเชื่อเสมอว่า แม่คือบ้านของตัวเอง ฉะนั้นสิ่งที่หักพังลงมา จึงกลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงลึกๆ ภายในของทั้งพี่อบเองด้วย ทุกครั้งที่เธอพูดถึงพ่อ การโอบรับ หรือ embrace ความเป็นพ่อที่ตัวเองจดจำมาตลอดมาอยู่ในตัวตนของเธอ และเริ่มสร้างบ้านของเธอเองหลังนี้ขึ้นมา ในความทรงจำของพ่อ ความตระหนักในชนชั้นในสังคมที่ได้เรียนรู้มาพร้อมๆ กัน
The reckoning, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร , 2561, สำเนาแคชเชียร์เช็ค บน ฐานหินอ่อน
การปีนบันไดทางสังคม
ธนาวิ โชติประดิษฐ (2561) อธิบายงาน The Broken Ladder ว่าเป็นเสมือน “ฝันลวงของการปีนบันไดทางสังคม” เพราะทุกคนต่างต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ตัวเองได้ยกระดับชนชั้น และบ้านเป็นดังเครื่องวัดคุณภาพชีวิตของแต่ละคน ดังที่ธนาวิ กล่าวว่า “การมีบ้านต้องแลกกับก้อนหนี้ในธนาคาร สำเนาดราฟท์เช็คบนแท่นหรูจึงเป็นพยานของชีวิตเงินผ่อน เหนือไปกว่าศิลปะและตัวเงินหลักล้านคือ เวลาชีวิต”
การสะท้อนของกระจก ทั้งในแผ่นผนังขนาดใหญ่ที่บรรจุร่องรอยของโฉนดที่ดิน กระจกสี่เหลี่ยมที่ครอบใบเสร็จจากธนาคารที่เป็นพยานถึงหนี้ สะท้อนส่วนเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตของตัวศิลปินเองที่ต่างอยู่ในวิบากกรรมของการนั่งอยู่บนบันไดแห่งชนชั้นของสังคมนี้ ในกระบวนการทำงานศิลป์ชิ้นนี้ของวันทนีย์ กระจกที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของงานจึงทำหน้าที่สะท้อนตัวตนของศิลปินที่กำลังคิดอยู่กับตัวเอง สะท้อนตัวเองเพื่อให้ตัวเองได้เห็น การตระหนักถึงความหมายเมื่อมันได้จัดแสดง (display) ขึ้นมา และพรมแดนที่ชัดเจนขึ้นของโลกความเป็นจริง
The ins , วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร , ทองคำ18k, 2561
ผมมองงานนิทรรศการ The Broken Ladder ของพี่อบเชยที่ใช้กระบวนการของงานสะท้อนย้อนคิดผ่านเลนส์ที่เป็นกระจกในรูปแบบต่างๆ เป็นเหมือนการมองตัวเอง การสารภาพ สัญลักษณ์ที่เป็นตัวกระจกที่ปรากกในตัวงานจึงเป็นภาพเงาสะท้อนเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ที่ผ่านมาของศิลปินเอง ในความคิดเรื่อง “บ้าน” และ “ความไม่เท่าเทียมในสังคม”
เช่นในงานศิลปะในเชิงสารภาพที่น่าสนใจของ Louise Bourgeois ชื่อ “Maman” (1999) หรือ แมงมุม พูดถึงกระบวนการในพัฒนาการทางอารมณ์ของศิลปินที่มีต่อความเป็นแม่ แม่ในฐานะเพื่อนสนิท แม่มีทั้งความฉลาด ความอดทนอดกลั้น ความสมเหตุสมผล ความบอบบาง แม่เป็นคนที่คอยช่วยเหลือและปกป้อง เธอจึงเปรียบแม่เป็นเหมือน “แมงมุม” ที่มีความหมายทั้งเชิงบวกและลบ แฝงส่วนลึกๆ สะท้อนความกลัวที่มีในตัวเองด้วย
การตระหนักถึงตัวตน และสังคม
การสะท้อนย้อนคิดจึงให้ความหมายที่หลายเฉด ถ้าว่าด้วยตามกรอบคิดและบริบทแล้ว เพื่อให้เราสามารถกลับมาพิจารณาตัวเอง โดยเฉพาะการหยิบเอา “ประสบการณ์” มาใช้เป็นสมการเพื่อสร้างความตระหนัก ด้วยการแยกตัวเองออกจากชีวิตในประวัติศาสตร์ สังคม และผู้คนอื่นๆ เป็น “ตัวตน” ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวตนกับประสบการณ์ ตัวตนกับสิ่งอื่น จนกลายมาเป็นทั้ง “ผู้ถูกกระทำ” และ “ผู้กระทำการ” หรือพูดง่ายๆ คือ กระบวนการที่แยกตัวเองออกมาพิจารณามองดูตัวเอง วิพากษ์สิ่งต่างๆ รวมถึงตัวเอง ด้วย
การสะท้อนย้อนคิดจึงสามารถเป็นได้ทั้งปัจเจก หรือ ส่วนรวม ส่วนบุคคล หรือ สาธารณะ ซึ่งปรากฏในรูปแบบใดก็ได้ในการสื่อสารของมนุษย์ ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่ใช้เรื่องของ “ประสบการณ์” เข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้สร้าง กระบวนการ และตัวชิ้นงาน จึงเป็นจุดที่ควรแก่การทำความเข้าใจถึงความสำคัญและความซับซ้อน ที่ผู้สร้างงานเองจำต้องตระหนักถึงเงื่อนไขของการเสพย์งานของผู้ชมที่อาจจูงใจให้ไปอยู่ในชุดความหมายหนึ่งเท่านั้น งานของวันทนีย์จึงเป็นการเขียนอัตชีวประวัติของศิลปินเองที่สร้างให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของงาน นั่นหมายถึงการตระหนักถึงตัวตน (self-conscious) จึงสำคัญอย่างมากในกระบวนการทำงานของศิลปินด้วย
Castle in the air, วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร , video installation สี 4K, 2561
นิทรรศการ The Broken Ladder โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จัดแสดงที่ Gallery Ver ระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2561
ข้อมูลอ้างอิง
- ธนาวิ โชติประดิษฐ, 2561. วิมาน (House/Hope). บทความประกอบนิทรรศการ The Broken Ladder โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร. http://www.cac-art.info/users/thanavichotpradit/journal/57/
- Ruby, Jay. 1982. A Crack in the Mirror: Reflexive Perspectives in Anthropology. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.
- Behar, Ruth. 2003. “Ethnography and the Book that was Lost.” Ethnography 4, no.1: 15-39.
- Louise Bourgeois – Maman, http://www.tate.org.uk/art/artworks/bourgeois-maman-t12625
รูปประกอบโดย ธนัชชัย บรรดาศักดิ์