โดย Neil
โครงการศิลปกรรม Brand New เป็นโครงการที่ส่งเสริมและผลักดันศิลปินหน้าใหม่ ที่ได้รับคัดเลือกจาก ภัณฑรักษ์ภายนอกมาจัดนิทรรศการเพื่อใช้โอกาสนี้เป็นก้าวแรกให้ศิลปินรุ่นใหม่เข้าสู่เส้นทางการทำงานศิลปะ ในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนตัวภัณฑรักษ์ ซึ่งไม่มีการผูกติดกับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง สำหรับภัณฑรักษ์ที่มาทำการคัดเลือกในปีนี้คือ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ พร้อมกับการจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินที่ได้รับเลือกจำนวนทั้งสิ้น 6 คน โดยจะมีการจัดนิทรรศการตามแกลอรี่ในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 4 แห่ง คือ หอศิลปแห่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG), WTF gallery, VER gallery และ RMA gallery
โดยที่แรกได้มีการจัดพิธีเปิดเมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เมื่อขึ้นมายังบริเวณชั้น 2 ของ หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กล้วยน้ำไท) จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมที่สร้างจากปลายพู่กันที่น่าค้นหาของ แพร พู่พิทยาสถาพร ศิลปินผู้มีความหลงใหลในการวาดภาพตั้งแต่เด็ก ผลงานชิ้นนี้ถ่ายทอดออกมาจากจินตนาการของศิลปินที่ในการอ่านวรรณกรรมทำให้ผลงานชุดนี้เป็นภาพของสถาปัตยกรรมและวิวทิวทัศน์ โดยที่ศิลปินได้กล่าวถึงผลงานของตนไว้ว่า “จิตรกรรม คือภาษาอย่างหนึ่ง” โดยศิลปินได้เลือกการสร้างผลงานผ่านงานจิตรกรรม เพราะงานจิตรกรรมสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้สี การลงฝีแปรงที่ก่อให้เกิดน้ำหนักของการขูด ขีด ปาด เนื้อสีลงบนผืนผ้าใบที่สามารถสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวศิลปินเองได้
ถึงแม้ว่าบางสิ่งอาจไม่ได้มีความพิเศษอะไร แต่เมื่อศิลปินต้องการถ่ายทอดบางอย่างออกมาผ่านงานจิตรกรรม สิ่งนั้นอาจกลับดูมีคุณค่าและความสุนทรีย์ในตัว ด้วยเหตุผลนี้เองภาพถ่ายจึงไม่อาจทำได้แบบงานจิตรกรรม ผลงานที่ศิลปินจัดแสดงนั่นเป็นภาพจากสถานที่ที่มีอยู่จริงและเวลาที่เป็นอยู่ขณะนั้น โดยตัวศิลปินเลือกที่จะถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็น จากประสบการณ์ส่วนตัว และสิ่งที่จินตนาการตามความรู้สึกออกมา เฉกเช่นเวลาเราอ่านวรรณกรรมซี่งเรามักจะจินตนาการภาพต่างๆ ขึ้นมาจากตัวอักษร และเกิดจากสิ่งที่เราเคยพบเจอ นำมาสร้างเป็นองค์ประกอบตามความคิดของเราเอง เพื่อให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่อ่านมากที่สุด ดังนั้นหากจะบอกว่าภาพจิตรกรรมนั้นนำมาจากสถานที่ที่มีอยู่จริง เราก็จะเกิดการขบคิดและจินตนาการ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่มีอยู่จริงและสิ่งที่ภาพถ่ายทอดออกมาเหมือนการจินตนาการ และจัดองค์ประกอบของภาพจากการอ่านวรรณกรรม แนวคิดนั้นเองจึงเป็นแนวทางในการมองงานศิลปะที่ แพร พู่พิทยา สถาพร ต้องการให้ผู้ชมงานศิลปะเข้าใจ และเกิดการตีความตามประสบการณ์ของผู้ชมโดยมีงานศิลปะทำหน้าที่ชี้ให้เราฉุกคิด และเลือกที่จะมอง หรือเลือกที่จะเชื่อในแนวทางใดเพียงเท่านั้น
หากออกจากห้องจัดแสดงชั้น 2 แล้วขึ้นมายังชั้น 4 อีกผลงานหนึ่งที่จัดแสดงอยู่นั่นคือ ‘My Hands Remember How Your Body Felt’ โดย ภคิณี ศรีเจริญสุข หรือแมรี่ เป็นผลงานที่เมื่อก้าวเข้าไปในห้องจัดแสดงแล้ว ผู้ชมอาจไม่ได้สังเกตอะไรมาก แต่จะเห็นเป็นเพียงแค่ภาพสีน้ำตาลอ่อนๆ ที่เรียงรายอยู่บนผนังสีขาวของห้องจัดแสดงขนาดย่อมๆ หากลองเพ่งมองเข้าไปใกล้ๆ แล้ว จะเห็นถึงรายละเอียดของภาพที่ตัวศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานจากเครื่องสำอางออกมาเป็นพื้นผิวของผิวหนังมนุษย์ ความแปลกนี้เองจึงเป็นจุดน่าสนใจนี้เองที่ดึงดูดให้ผู้ชมอย่างเราต้องเข้าไปเพ่งมองภาพที่อยู่ตรงหน้าอย่างละเอียด และพินิจพิจารณาสิ่งที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็น รอยแผลเป็น ไฝ หรือเส้นเลือด ซึ่งชวนให้สงสัยว่าภาพนั้นเป็นผิวหนังส่วนใดของร่างกาย
เมื่อภาพที่ปรากฏตรงนั้นเป็นการขยายผิวหนัง จึงทำให้เราเห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของร่างกายและรอยตำหนิที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของมนุษย์ ผิวหนังคืออวัยวะที่ป้องกันสิ่งที่ต่างๆ ในร่างกายจากอันตรายภายนอก แต่ในขณะเดียวกันผิวหนังบางจุดกลับเป็นส่วนที่บอบบางต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย ความบอกบางนี้เองที่ตัวผลงานกำลังถ่ายทอดออกมาให้คนดูได้รับรู้ ผิวหนังบางส่วนอาจถูกปกปิดและถูกเปิดเผยในความสัมพันธ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ซึ่งเชื่อมโยงต่อความรู้สึกภายนอกสู่จิตใจภายใน และนี้เองที่ทำให้ผิวหนังเป็นทั้งสิ่งปกติและสิ่งที่เรียกได้ว่าอนาจารในบางจุดของร่างกาย เป็นไปได้ว่าศิลปินอาจกำลังพูดถึงความสัมพันธ์ของสิ่งรอบตัวของที่เกิดขึ้น ผมใช้เวลาอยู่ในห้องนิทรรศการนี้นานพอสมควรเพียงเพื่อจะสำรวจลักษณะของผิวหนังที่มีความแตกต่างกัน ภาพเหล่านั้นชวนให้เพ่งมองร่องรอย ตำหนิของผิว เหมือนมันกำลังดึงดูดสายตาให้เรากวาดไปรอบๆ แล้วจึงกลับมาเพ่งมองอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
หอศิลป มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUG)
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กล้วยน้ำไท)
จัดแสดงวันที่
12 พย.59 -14 มค.60