Caravaggio: ตราบาปของสำเนา

หากใครได้ติดตามข่าวสารบนหน้าเว็บไซต์ BACC แล้วล่ะก็ คงจะทราบกันดีว่าเรากำลังจะได้ร่วมชื่นชมผลงานกว่า 40 ชิ้นของคาราวัจโจ จิตรเอกชาวอิตตาเลี่ยนในยุคบาโรค ตัวนิทรรศการนั้นเป็นแบบหมุนเวียน โดยได้มีการจัดแสดงที่ศูนย์ไฮดา อาลิเยฟ ประเทศอาเซอร์ไบจานมาก่อนหน้า เมื่อแล้วเสร็จจึงได้เวียนมาที่ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนที่ทั้งสองประเทศมีให้กัน ผลตอบรับที่ได้กลับมาเป็นไปในทิศทางที่ดีและได้รับความสนใจค่อนข้างสูง[1] ในทำนองเดียวกันกับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิตาลีมายาวนานถึง 150 ปี จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้ชมภาพจิตรกรรมของคาราวัจโจอย่างใกล้ชิดเสียที ด้วยความช่วยเหลือจากเทคเทคโนโลยีการสแกน HD Digital Reproduction ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูง เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับผู้ชมได้ร่วมดื่มด่ำไปกับงานจิตรกรรมเหล่านี้ภายใต้บรรยากาศสลัวๆ ดูโรแมนติกนั่นเอง 

 

แต่เมื่อนิทรรศการดังกล่าวได้เปิดตัวต่อสายตาสาธารณะชนได้ไม่นาน ก็เริ่มเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังเรื่องของสื่อที่ใช้นำเสนอ ( light box) ว่าไม่ต่างอะไรกับภาพปริ้นท์สีทั่วๆไป ต่างกันก็แค่ขนาดของมันที่มีสัดส่วนเท่ากับภาพจริงเท่านั้นเอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์งานในครั้งนี้ของหอศิลป์ส่วนหนึ่ง ด้วยความที่ BACC ได้ทำการประชาสัมพันธ์ที่ดูเกินจริง ราวกับนำชิ้นงานของจริงมาจัดแสดง “นอกจากนี้นิทรรศการยังได้รวบรวมผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของศิลปิน เช่น “Bacchus” และ “Medusa” รวมถึงผลงานที่หาชมได้ยาก เช่น “Boy Bitten by a Lizard” หรือผลงาน “Saint Matthew and the Angel” ซึ่งปกติติดตั้งอยู่ในโบสถ์ซานลุยจิ เด ฟรานเชสิ กรุงโรม ที่สามารถชมได้จากระยะไกลและด้วยแสงสว่างที่เพียงพอเท่านั้น”[2]  แน่นอนว่าคำพูดดั่งกล่าวต้องก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ชมแน่นอน เพราะถ้าเป็นเราก็คงคิดว่าได้ดูงานของจริงแน่ๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นเพียงการพิมพ์ลงบนไวนิ่ลและฉายแสงออกมาจากด้านหลังเพื่อให้เกิดความสวยงาม จึงย่อมทำให้เกิดความผิดหวังตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่าภาพที่มีความละเอียดสูงระดับ high definition กลับไม่ได้รับการยอมรับในฐานะผลงานของคาราวัจโจ มิหนำซ้ำยังโดนดูแคลนว่าไม่ต่างอะไรกับภาพในหนังสือ ตัวชิ้นงานถูกลทอนคุณค่าลง จากงานจิตรกรรมกลายเป็นเพียงภาพปริ้นขนาดใหญ่ภาพหนึ่งที่หาดูได้ตามหน้านิตยสารหรือสื่อบนอินเตอเน็ตที่สามารถหาดูได้ทั่วไป  เช่นนั้นแล้วหากเราเปลี่ยนจากการใช้เทคโนโลยี Light Box มาเป็นการวาดมันขึ้นมาใหม่แล้วล่ะก็ ผู้คนที่มาชม (รวมถึงตัวศิลปินที่กร่นด่า) จะให้คุณค่างานเหล่านั้นไปในทิศทางใด เราจะสามารถยอมรับมันในฐานะงานศิลปะชิ้นหนึ่งได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ชื่นชมมันในฐานะงานของคาราวัจโจได้จริงๆรึเปล่า เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่เป็นปัญหากับผู้ชมทั้งคือการนำสำเนามาโชว์ในงานระดับชาติแบบนี้ มันออกจะเล่นง่ายำรึเปล่า บ้างก็ว่าไม่รู้สึกอินกับงาน มิหนำซ้ำ เพจดังและคนในวงการศิลปะหลายคนต่างพากันวิจารณ์จน BACC แทบจะไม่มีที่ยืน บ้างก็ว่าไม่ลงทุนบ้างล่ะ งานใหญ่ทั้งทีแต่กลับไม่มีผลงานของจริงมาจัดแสดงเลยแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่ภาพปริ้นขนาดเหมือนจริงที่มันหาดูที่ไหนก็ได้ จะเสียเวลาเดินทางมาหอศิลป์ทำไม

 

ตอนแรกก็เข้าใจถึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนี้ เพราะเนื่องในวาระสำคัญทั้งที อย่างน้อยๆ ก็คงอยากได้งานจริงมาเชยชมสักชิ้น หรือไม่ก็ใช้การคัดลอกทำสำเนาที่ดีกว่านี้ก็ยังดี แต่ไปๆมาๆ เราเริ่มรู้สึกว่ามันเกินพอดีไปรึเปล่ากับการวิจารณ์อย่างสนุกปากจนลืมนึกถึงบริบทและปัจจัยหลายๆอย่างไป อย่าลืมว่านี่คือนิทรรศการหมุนเวียนที่เวียนมาที่ไทยเป็นประเทศท้ายๆ จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ควรถูกวิจารณ์ หรือแตะต้องไม่ได้เลย แต่ด้วยนิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Italy Festival 2018 ซึ่งเราคิดว่าวัตถุประสงค์ในการจัดงานมันก็ชัดเจนอยู่พอตัวว่าจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยมีงานศิลปะเป็นน้ำจิ้มแถมเพื่อเป็นการเชื้อเชิญหรือก็คือยั่วให้เรารู้สึกอยากไปดูงานของจริงเพื่อให้ฟินยิ่งขึ้น หากบอกว่าบอกว่าการเรียนรู้ศึกษางานศิลปะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้กับสำเนาแล้วล่ะก็ เห็นทีภาควิชาศิลปะต่างๆในไทยก็คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะส่วนใหญ่ที่ทิ้งไว้ให้ศึกษาก็เห็นจะมีแค่สำเนานี่แหละ การถกเถียงกันในเรื่องการนำเสนอตัวงานจิตรกรรมเป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่การที่คนส่วนมากยกเรื่องการใช้สื่อกลาง (Light box) กับรายละเอียดที่สูญเสียความคมชัดไปเมื่อจับแสงนี้ก็ดูเอาแต่ใจไปรึเปล่า เพราะอย่างไรเสีย การที่ได้ชมสำเนาขนาดจริงก็ย่อมดีกว่าการมองผ่านหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างๆที่ถูกจำกัดกรอบการมองเห็นด้วยช่องพิกเซลบนหน้าจอสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิใช่หรือ

 

[1] https://azertag.az/en/xeber/_quotCaravaggio___Opera_Omnia_quot_exhibition_opens_in_Baku-1120902, (15 May 2018)

[2] http://www.bacc.or.th/event/1966.html, (15 May 2018)