By A boy
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสพาตนเองเข้าไปในโลกนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “EARLY YEARS PROJECT #1: Thisorder” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 7 โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงคัดเลือกมาจากศิลปิน 12 ท่าน ภายใต้เนื้อหา “Early Years Project #1 : Thisorder” ที่นำเสนอแนวความคิดซึ่งได้มาจากผลงานอันหลากหลายของศิลปินที่ส่งเข้าร่วมโครงการและได้รับการคัดเลือกอันแสดงให้เห็นถึงการจัดลำดับใหม่ของศิลปินทั้งในทัศนคติทางศิลปะ เนื้อหาและแรงบันดาลใจ เทคนิคและรูปแบบของการแสดงออก รวมไปถึงคุณประโยชน์และหน้าที่ของศิลปะ สื่อสารการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการรับรู้ การตั้งคำถามของศิลปิน และการประกอบขึ้นมาซึ่งความหมายใหม่ การจะกล่าวถึงผลงานทั้ง 12 ชิ้นที่แตกต่างหลากหลายนั้นคงจะทำไมได้โดยสะดวกจึงขอนำเสนอผลงานที่ประทับใจเป็นพิเศษ
ท่ามกลางผลงานทั้ง 12 ชิ้น ผลงานที่ผมประทับใจมากที่สุดคือผลงาน “A Girl has no name” ของติณนา หงส์งาม ที่เมื่อคุณมองไปที่ผลงานแล้ว คุณจะต้องถามตัวเองในใจว่า ตารางต่างๆมากมายที่ปรากฏแทบทุกอณูของงานชิ้นนี้คืออะไร ? ความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจน ความเศร้าหมองที่แสดงออกผ่านโทนสีมืดคืออะไร ? ทำไมหญิงสาวคนนี้จึงเปลือยกาย ? หากเรายังไม่อ่ายป้ายคำอธิบายตัวชิ้นงานเราก็อาจสัมผัสได้ถึงความมืดมนอนธการที่ปรากฏเมื่อแรกเห็น อย่างน้อยๆที่สุดความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นย่อมไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีและสดใสอย่างแน่นอนประหนึ่งดอกบัวบานที่ผุดจากน้ำ แต่กลับรู้สึกประหนึ่งขอนไม้ที่ลอยเคว้งคว้างกลางมหาสมุทร
เมื่อเราอ่านป้ายคำอธิบายแนวคิดของศิลปินซึ่งพอจับใจความได้ว่าศิลปินตั้งคำถามต่ออัตตาหรือตัวตนของแต่ละคนที่ถูกหล่อหลอม สั่งสม กลั่นมาจากหยาดน้ำตาแห่งความเจ็บปวดอันเกิดขึ้นจากแผลเป็นของตนเอง ซึ่งจากชื่อ “A Girl Has No Name ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวละครผู้หญิงคนหนึ่งในซีรี่ส์เรื่อง Game of Thrones เธอยอมจำนนหรือแลกกับความเจ็บปวดอันแสนจะทรมานเพื่อที่จะได้ทำตามเป้าหมายของเธอ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนตัวเองจากตัวตนเดิมให้ดีกว่า” ที่มาของชื่อที่อยู่บนป้ายนิทรรศการได้บอกจุดมุ่งหมายของชิ้นงานไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
แต่พลังของงานชิ้นนี้กลับเป็นเสมือนกระจกส่องมนุษย์โลกให้เห็นถึงการก้ามข้ามผ่านความทุกข์ยากเพื่อที่จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม เป็นคนใหม่ที่เราไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งเราจะเป็นได้ ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการสร้าง “ตัวตนที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นได้” ไม่ใช่สิ่งของหายากหรือพิเศษพิสดาร แต่กลับเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่มนุษย์ทุกคนล้วนมี นั่นคือ “ความทุกข์” มันทำให้ผมนึกถึงบทสวดในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “ทุกโขติณณา, เป็นผู้ถูกความทุกข์ หยั่งเอาแล้ว” อันหมายถึงมนุษย์ทุกคนล้วนถูกครอบงำด้วยกองทุกข์ทั้งหมด แต่สิ่งที่งานชิ้นนี้นำเสนอกลับไปได้ไกลกว่าคำอธิบายของพระพุทธศาสนากล่าวคือแทนที่จะสลายตัวตนเป็นอนัตตาเพื่อให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แต่ศิลปินกลับเน้นถึงการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่สนใจความทุกข์ใดๆแทนที่จะละทิ้งความทุกข์เหล่านั้นแต่ศิลปินเลือกที่จะโอบกอดความทุกข์ทั้งมวลมาไว้ข้างกายจนกลายเป็น “เกาะ” ที่มองไม่เห็น ประหนึ่ง “ออร่า” ที่เปล่งออกมาจากตัวคอยป้องกันความทุกข์ที่จะเข้ามาในอนาคต มันทำให้ผมมองความทุกข์ในมุมมองที่เปลี่ยนไป
เมื่อผมชมผลงานนี้เสร็จ ราวกับผมได้ยินเสียงหญิงสาวในชิ้นงานร้องเพลงท่อนที่อหังการและบ้าบิ่น ว่า “ขอเยาะเย้ยทุกข์ยาก ขวางหนามลำเข็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”