โดย Por Pramsumran
Erwin Wurm
The Philosophy of Instructions
ฉันรู้จักนิทรรศการนี้ด้วยช่องทางที่ต่างไปจากปกติ ไม่ใช่จากโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ หรือจากอีเว้นต์ที่แชร์กันในเฟสบุ๊ค แต่จากภาพของเพื่อนที่ขึ้นไปยืนบนแท่นสีขาว โพสต์ท่าตามคำสั่ง(Instruction)ของศิลปิน และในที่สุด เพื่อนได้กลายเป็นรูปปั้นมีชีวิต กลายเป็นงานศิลปะไปเสียแล้ว เฮ้ย แบบนี้ก็ได้เหรอวะ ?
น่าเสียดาย ตอนที่ฉันไปดูนิทรรศการ เป็นช่วงที่ตลาดวายไปแล้ว ทุกคนเพียงแต่ยืนมองวัตถุบนแท่นสีขาวกับคำสั่งและภาพประกอบ วิธีการของศิลปินนั้นคล้ายกับเวลาต่อเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อจากอิเกีย(IKEA) เราอ่านคำสั่งให้เข้าใจ ทำตาม เป็นอันว่าเรียบร้อย ในวันที่ฉันไปนั้น ไม่มีใครทำตามคำสั่งของเขา ฉันเองก็ไม่กล้า แม้จะคิดว่ามันคงตลกดีที่ได้ทำแบบนั้น และคงรู้สึกดีได้กลายเป็นวัตถุศิลปะ(Art Object) สักครั้งในชีวิต
นอกจากแท่นสีขาวและเฟอร์นิเจอร์ที่รอมนุษย์ไปร่วมทำตามคำสั่งให้เกิดเป็นงานศิลปะตามที่ศิลปินได้สั่งไว้ บนผนังสีขาวด้านหนึ่งเป็นภาพถ่ายผลงานของศิลปินที่ช่างดูเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ส่วนผนังอีกด้านเป็นผ้าสีชมพูขอบเขียวและมีถุงเท้ายาวสีชมพูขอบเขียวแบบเดียวกันติดประดับ ด้านในสุดของห้องจัดแสดงจะพบห้องสีขาวที่ติดตั้งวีดีโออาร์ตไว้ด้านใน เมื่อดูวีดีโอฉันจึงได้รู้ว่าฉันอยู่ในตัวคุณบ้านอ้วน คุณบ้านอ้วนตั้งคำถามกับความอ้วนของตัวเธอเองว่า เธอคงเป็นเพียงบ้านธรรมดาๆ ถ้าเธอไม่อ้วน แต่เพราะเธออ้วน เธอจึงกลายเป็นศิลปะใช่ไหม และตั้งคำถามต่อสิ่งนู้นสิ่งนี้ว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่ และหากเธอเป็นบ้าน คนที่สร้างเธอจะเรียกเขาว่าสถาปนิกหรือศิลปินดีล่ะ
หลังออกจากตัวคุณบ้านอ้วนสีขาว ฉันเดินผ่านวีดีโออาร์ตที่ติดตั้งอยู่บนผนัง แจ็กเก็ตในกล่องที่มีคำสั่งบอกว่าให้คุณเอามันออกมาแล้วพับกลับลงไปใหม่ตามภาพประกอบและนั่นแหละคือศิลปะ วีดีโออาร์ตแสดงภาพเคลื่อนไหวที่ศิลปินยืนนิ่งๆ อยู่บนแท่นประติมากรรมสีขาวอันเตี้ยๆ พักหนึ่งเขาก็ย้ายที่ไปมุดหัวทิ่มลงในแท่นประติมากรรมสีขาวทรงสูงอีกอัน แล้วฉันจึงเข้าสู่อีกด้านของนิทรรศการ ฉันชอบภาพยนตร์สั้นที่แสนจะเซอร์เรียลและแอบเสิร์ดของศิลปินมากพอดู พวกเขาคุยกันเรื่องที่เราไม่ต้องรู้ก็ได้ เช่น “นักวิทยาศาสตร์บอกว่ากล้วยมีดีเอ็นเอเหมือนคนตั้ง 50% เวลากินกล้วย คุณไม่คิดเหรอว่ามันเหมือนเรากินคนอยู่ครึ่งคน” แต่ฉันว่ามันตลกดี ต่อไปนี้ฉันคงมองมันไม่เหมือนเดิมแต่ฉันยังจะกินมันอยู่ดี
จากมุมที่ฉายภาพยนตร์สั้น เราจะเห็นภาพศิลปินในอิริยาบถต่างๆ บนผนัง เมื่ออ่านจากกระดาษที่ติดตั้งในตู้กระจกเป็นแถวยาว ฉันจึงรู้ว่าศิลปินกำลังอธิบายว่าเขาทำอะไรบ้างถึงได้เปลี่ยนจากผู้ชายไซส์ S มาเป็นไซส์ L ได้ภายในแปดวัน ฉันเดินไล่อ่านไปจนครบแล้วพบว่าทุกสิ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ฉันชอบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกินขนมนมเนย นอนนานๆ ทำตัวขี้เกียจ และอะไรต่างๆ ฉันว่าเป็นกิจกรรมแห่งความสุขเลยล่ะ ว่าแต่การทำให้ตัวเองอ้วนนี่ก็เป็นศิลปะเหรอ ? เหมือนที่คุณบ้านอ้วนอ้วนใช่ไหม ? แล้วที่ฉันทำอยู่ทุกวี่วันเป็นศิลปะหรือเปล่านะ ?
บนผนังสีขาวอีกด้านปรากฏแผนผังความคิดเกี่ยวกับศิลปิน ถ้าน้องคนไหนถูกอาจารย์บอกให้มาเขียนวิจารณ์นิทรรศการนี้คงรู้สึกว่าช่างโชคดี ศิลปินบอกไว้หมดแล้ว บอกรูปแบบงาน บอกบริบท ช่วยเชื่อมโยงการตีความเข้ากับนักคิดนักเขียนต่างๆ ให้ด้วย มีเรื่องเขียนแน่นอน
ฉันเดินออกจากนิทรรศการนี้ด้วยรอยยิ้มเล็กๆ เปื้อนใบหน้า เออ ศิลปะมันก็เป็นแบบนี้ได้ด้วยแฮะ!
แอร์วิน วูร์ม
ปรัชญา ประ-ติ-บัติ
26 พฤศจิกายน 2559 – 26 กุมภาพันธ์ 2560
ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศิลปิน แอร์วิน วูร์ม ภัณฑารักษ์ พิชญา ศุภวานิช
(ภาพถ่ายโดย Sittidech Nuhoung ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pg/ErwinWurmThePhilosophyOfInstructions/photos/?tab=album&album_id=349088035455808)