By Por Pramsumran
“เราทุกกลุ่มล้วนเป็นคนอื่นสำหรับคนอีกกลุ่มเสมอ”
คำกล่าวของแมคอีวิลเลย์ (McEvilley, 1992:11) คือประโยคหนึ่งจากคำอธิบายนิทรรศการที่เรียกความสนใจจากฉันได้ในทันที ความน่าสนใจอีกประการ คือ ความร่วมมือระหว่างหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนี้ขึ้นมา ไม่บ่อยนักที่จะเห็นภัณฑารักษ์เป็นนักมนุษยศาสตร์
ฉันพาตัวเองมายืนอยู่ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เพื่อเข้าชมนิทรรศการ Human AlieNation ในก้าวแรกที่เข้าสู่นิทรรศการ ฉันพบงาน installation สองชิ้นของนพไชย อังควัฒนะพงษ์ เส้นสายผสานไฟนีออนอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นดูไม่เข้ากันกับสถาปัตยกรรมของอาคาร คนละยุคสมัย แต่การอยู่ร่วมกัน ณ ตรงนั้นทั้งที่งานแปลกแยกต่อสถานที่เป็นเสน่ห์ที่รุนแรงทีเดียว ฉันมองดูเส้นสายสีฟ้าทบซ้อนเกาะเกี่ยวเหมือนแมงหวี่เห็นแสงไฟ ก่อนสาวเท้าเข้าไปยังโถงของนิทรรศการที่มีคำอธิบายนิทรรศการ แสดงให้เห็นแผนผังนิทรรศการ และบอกเล่ากระบวนการทำงาน ส่วนทางซ้ายมือ คือ ห้องมืดที่ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ฉันเลือกเข้าหาความมืด
ภายในห้องมืดมีงานวิดีโออาร์ตสามชิ้นของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จัดแสดงอยู่ที่ผนังทั้งสามด้าน ซ้ายมือของฉันเป็นผู้ชายคนหนึ่งกับกองหัวหอม มีที่ปอกเปลือกแล้วจำนวนมาก และที่ยังไม่ได้ปอกก็มากพอกัน เขาปอกเปลือกหัวหอมโดยมีเสียงเพลงไทยเดิมประกอบ เขาปอกอย่างต่อเนื่องโดยไม่ร้องไห้สักนิด ชิ้นที่สองที่อยู่ตรงหน้าคือผู้หญิงในชุดดำที่ยืนนิ่ง มองไปด้านหน้า และร้องเพลง แต่เราไม่ได้ยินเสียงของเธอ และชิ้นสุดท้าย คอนดักเตอร์อำนวยเพลงอยู่ในพื้นที่ของหอศิลป์นี่เอง เราได้เห็นด้านหลังของตัวคอนดักเตอร์ และได้ยินเสียงเครื่องดนตรีให้จังหวะเป็นระยะ แต่ไม่ได้เห็นวงดนตรี มีสิ่งที่ปรากฏอยู่และขาดหายไปในแต่ละชิ้น น้ำตาขาดหายไป เหลือเพียงการปอกอย่างต่อเนื่องเหมือนหุ่นยนต์ทั้งที่ชาชินแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะหยุด หรืออาจไม่รู้ว่าจะหยุดได้เมื่อไหร่ การร้องเพลงที่ไม่อาจให้เสียงออกมาได้ วงดนตรีที่เราไม่เห็น แต่ก็คิดว่าต้องมีอยู่ และเครื่องดนตรีที่ถูกลดทอนไปจนเราไม่อาจรู้ได้ว่าเล่นเพลงอะไร เราจะได้รู้ ในสิ่งที่ถูกอนุญาตให้ปรากฏเท่านั้น และต้องเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป
ฉันพาตัวเองออกจากห้องมืดเดินขึ้นบันไดที่ชั้นบน พบงานของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ เหรียญถูกจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก เหรียญที่ไม่ใช่ของไทย จากสัญลักษณ์สิงห์ทำให้ทราบว่าเป็นของพม่า ที่ตรงกันข้ามกับเหรียญคือวีดีโออาร์ตผู้ชายคนหนึ่งวิ่งหายไปจากจอภาพ เราจะได้ยินเสียงวิ่งอยู่ แต่ไม่ได้เห็นตัวคนวิ่ง ซึ่งวีดีโอแบบนี้ก็ปรากฏอยู่ตรงทางเข้าเช่นกัน แต่ผู้ชมอาจไม่สังเกตเห็นมากนัก และงานที่สามคืองาน installation เส้นแบ่งกลางห้องที่ทำจากไม้ ดูคล้ายเส้นแบ่งเขตแดน แปลกดีเหมือนกันที่เมื่อมีเส้นแบ่ง มันทำให้เราต้องก้ามข้ามไป มันทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ทั้งที่ก่อนหน้ามีเส้นแบ่ง มันเป็นผืนดินเดียวกันแท้ๆ ที่ผนังมีกระดาษที่แขวนไว้ บอกเล่าเรื่องราวการหวนกลับมาพบกันของชาวไทยกับชาวพม่าผ่านการก้าวข้ามเส้นผ่านแดน และอีกฝั่งของห้องมีกล่องกระจกใส่กระดาษเล็กๆ ที่เขียนตัวเลขเอาไว้-เบอร์โทรศัพท์ ระหว่างที่ฉันสนใจงานอื่น ผู้ชายวีดีโอก็กำลังวิ่งและหายไป วิ่งและหายไป อย่างต่อเนื่อง
ถัดไปที่อีกห้อง พบงานของนพไชย อังควัฒนะพงษ์อีกสองชิ้น ปรากฏฟิล์มเอ็กซเรย์ขนาดเล็กเขียนชื่ออวัยวะต่างๆ เอาไว้ ฉันอดคิดไม่ได้ว่าทั้งที่มันอยู่ข้างในตัวเรา แต่เมื่อเห็นภาพมัน กลับไม่รู้สึกคุ้นเคยสักนิด กล้องถ่ายรูปแบบโบราณ และภาพของคนอีกหลายคน การถ่ายรูปก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกอยู่บ่อยๆ บางครั้งเมื่อถ่ายรูปออกมาแล้วเรากลับรู้สึกแปลกแยกกับตัวเองที่อยู่ในรูป เราเป็นแบบนี้จริงๆ หรือ นั่นใช่เราแน่หรือ ฉันเก็บความรู้สึกแปลกแยกกับตัวเอง แล้วก้าวเดินต่อ
เมื่อเดินเข้าไปในห้องด้านใน เป็นชุดผลงานของจิตติ เกษมกิจวัฒนา มีคำพูดชวนให้รู้สึกถึงบรรยากาศอ้างว้างอยู่บนกระดาษแผ่นเล็ก และวัตถุที่วางแยกกัน ราวกับให้เราจับคู่คำกับภาพ ในห้องถัดไปเป็นป้ายภาษาจีนติดอยู่บนผนัง แค่นี้ก็เพียงพอที่จะกันให้ฉันออกไป”เป็นอื่น”แล้ว เพราะฉันไม่เข้าใจ ตัวอักษรใหญ่โตชวนให้คิดว่าเขากำลังต้อนรับหรือห้ามเรากันแน่นะ ด้านข้างป้ายนั้น มีโต๊ะที่วางวัตถุลูกบาศก์กระจก เมื่อมองมุมหนึ่ง เราไม่อาจเห็นอะไร แต่เมื่อมองอีกมุมจะเห็นว่ามีคนนั่งอยู่ ด้านข้างลูกบาศก์คือแผ่นวงกลมสีทองสลักภาษาฝรั่งเศส และในห้องสุดท้ายของนิทรรศการ เป็นภาพถ่ายที่สวนสาธารณะพร้อมประโยคภาษาฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ฉันที่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสพยายามแกะคำพวกนั้น แม้ไม่อาจเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่งแต่ก็รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับมากกว่าภาษาจีน นั่นคงเป็นเพราะ “ฉันพอจะเข้าใจ” มัน
ความรู้สึกแปลกแยกไหลเวียนอยู่ในนิทรรศการ ความแปลกแยกระหว่างตัวฉัน(ผู้ชม) งานศิลปะ และพื้นที่จัดแสดง แทบจะไม่มีการติดป้ายบอกชื่อหรือคำอธิบายผลงาน เป็นตัวของฉันเองที่เข้าไปสัมผัสรับรู้กับงาน โดยไม่มีแสงสว่างจากตัวอักษรนำทาง
ฉันชมงานครั้งแรกด้วยตนเอง ครั้งที่สอง ได้เข้าร่วมกิจกรรมดูงานกับนักวิจารณ์และภัณฑารักษ์จึงทำให้ฉันได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในงานของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ เหรียญพม่านั้นเกิดจากการนำเหรียญไทยไปหลอมแล้วหล่อใหม่เป็นเหรียญพม่า และชื่อผลงานเส้นแบ่งเขตแดนนั้นคือ 2401 ซึ่งอาจหมายถึงเขตแดนพม่า-ไทยที่มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,401 กิโลเมตร ข้อมูลที่ได้มาใหม่ชวนให้ฉันตีความงานอีกครั้ง เมื่อมองดูวีดีโอคนวิ่ง ฉันคิดถึงคำพูดของคนๆ หนึ่ง เขาบอกว่าเรามักจะมองไม่เห็นคนใช้แรงงานที่อยู่รอบตัวเรา เช่น แม่บ้าน ภารโรง คนเก็บจานในโรงอาหาร เด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งพวกเขามักเป็นแรงงานต่างด้าว พวกเขามีอยู่ แต่เพราะเขาไม่ใช่พวกเรา เรามักมองไม่เห็น ไม่สนใจ นอกจากนี้ยังได้ทราบว่าคำภาษาจีนนั้นไม่ได้ต้อนรับหรือขับไล่ แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Fill the void ภัณฑารักษ์กล่าวว่าเป็นความตั้งใจจะที่ไม่มีการติด caption ผู้ชมจึงต้องมองหาและตามหาสิ่งเหล่านั้นเอง รวมทั้งมีการเปิดเปลือยให้เห็นช่องแอร์ และมีหลายห้องที่ติดวอลเปเปอร์ของนิทรรศการซึ่งเป็นลายแทนที่จะแขวนงานศิลปะไว้บนผนังสีขาวเรียบร้อยอย่างที่ฉันเคยเห็นซึ่งฉันคิดว่าสอดรับกับประเด็นที่นิทรรศการต้องการจะสื่อได้เป็นอย่างดี ภัณฑารักษ์ยังกล่าวเพิ่มว่าการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยที่มีลักษณะเป็นศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual art) ที่หอศิลป์นี้ก็เป็นความตั้งใจในเรื่องพื้นที่ซึ่งมีประวัติของตนเองเช่นกัน พื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่า “ท้องพระโรง” ถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็น “แกลลอรี่” หรือ “พื้นที่ทางศิลปะ” ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ยังคงร่องรอยความแปลกแยกบางประการต่อกันไว้ และยังชวนคิดเรื่องชื่องานนิทรรศการ Human AlieNation เรา (Human) แปลกแยก (Alienate) กับชาติ (Nation) ของตนหรือไม่ อย่างที่คำอธิบายนิทรรศการบอกไว้ “นี่คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมือง”
ฉันกลับไปที่นิทรรศการวันนี้เป็นครั้งที่สามเพื่อตามหาสิ่งที่ยังมองไม่เห็น อย่างที่ข้อความริมขอบโต๊ะในส่วนของ curator ว่าเอาไว้ “ในทุกการมองเห็นจะยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นซุกซ่อนไว้เสมอ” แม้กระทั่งตอนเขียนอยู่นี้ตะกอนความคิดของฉันก็ยังคงฟุ้งกระจาย มีเรื่องให้ขบคิดต่อ พยายามเชื่อมโยงชื่อผลงานกับภาพที่ได้เห็น ในท้ายที่สุดแล้ว นอกเหนือจากการได้รับรู้ รู้สึก และเปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านผลงานของศิลปิน ฉันได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญคือเราต้อง “เปิดใจ” นิทรรศการนี้ไม่อาจเข้าใจได้ผ่านการสัมผัสเพียงปราดเดียว แต่ผ่านการรับข้อมูล ศิลปะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มนุษยศาสตร์มาช่วยบอกเล่าและให้ความหมาย ผู้ชมมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คุณเป็นเผด็จการควบคุมและครอบครองการรับรู้และเข้าใจของคุณ หากคุณเลือกจะเดินออกไป ปิดประตูไม่รับรู้ เมื่อรู้สึกว่าไม่เข้าใจ ไม่อาจมีใครห้ามได้ และนั่นคือสิ่งที่เราทำกันอยู่ทุกวัน เหลือเพียงแต่ความเงียบและความแปลกแยกต่อกันในอากาศรอบตัว แต่ถ้าหากคุณเลือกที่จะ “รับรู้” และ “พยายามทำความเข้าใจ” ทั้งที่รู้สึกแปลกแยก นั่นต่างหากที่สำคัญ แม้ว่าในท้ายที่สุด มันอาจไม่ได้ทำลายความแปลกแยก หรือเปลี่ยนให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างเรียบเนียน ได้ แต่เราจะอยู่กันได้มากขึ้น
ฉันคิดว่าอย่างนั้นนะ
Human AlieNation /4 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2559 /หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
โดย
จิตติ เกษมกิจวัฒนา
นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์
นพไชย อังควัฒนะพงษ์
วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร
ภัณฑารักษ์รับเชิญ : กมลวรรณ์ บุญโพธิ์แก้ว