โดย วารุณี อิ่มอรุณรักษ์

นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Krung Thep Bangkok โดย สมบูรณ์ หอมเทียนทองและนำทอง แซ่ตั้ง เป็นภัณฑารักษ์ จัดแสดงผลงาน ณ ศาลาไทย  Paradiso Gallery ในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Biennale Arte 2017 (เบียนนาเล่ อาเต 2017) ครั้งที่ 57 ประเทศอิตาลี เมืองเวนิซ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม (OCAC) ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560  

นิทรรศการ Krung Thep Bangkok  เป็นนิทรรศการศิลปะจัดวาง งานประติมากรรม งานวาดเส้น และวีดิทัศน์ ที่หยิบยกเรื่องราวของกรุงเทพฯ พื้นที่อันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มาเล่าผ่านมุมมองของสมบูรณ์ ศิลปินไทยแนวนามธรรมผู้มีชื่อเสียงในวงการศิลปะของประเทศไทยและนานาชาติ การนำเสนอกรุงเทพฯ ในสายตาของสมบูรณ์  ไม่ได้เป็นเมืองหลวงที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาตื่นตาตื่นใจไปกับความเจริญทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ไทยแต่อย่างใด แต่เป็นเมืองหลวงที่มีความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมและมิติชีวิตที่หลากหลาย ทั้งวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายในอดีตและวิถีการดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนและมีสีสันในปัจจุบัน  สมบูรณ์ได้สังเกตเห็นและรับรู้ถึงความงดงามของวิถีชีวิตผู้คนในเมืองหลวงทั้งสองรูปแบบที่แทรกซึมเข้ามาในวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ ตามถนน ตรอก ซอกซอยและแหล่งชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ  นอกจากนี้ชุดผลงาน Krung Thep Bangkok ยังได้แสดงความสัมพันธ์กับอุดมการณ์หลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนี้

ประการแรก ผลงานของสมบูรณ์ได้สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของชาติไทย ในฐานะของการเป็นพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย หากผู้ชมคนไทยได้มีโอกาสมาชมงานแสดงของสมบูรณ์ Krungthep Bangkok จะต้องได้รับความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกันของความเป็นคนไทยจากผลงานชุดนี้ ตัวอย่างผลงานศิลปะจัดวางที่แสดงออกความเป็นชาติไทย เช่น เก้าอี้ไม้ธรรมดาวางอยู่ในกล่องหีบที่เปิดอยู่อาจจะทำให้ผู้ชมคนไทยระลึกถึงความทรงจำในอดีตของตัวเองในวัยเด็กหรือห้องพักครู เนื่องจากห้องเรียนหนังสือและห้องพักครูของโรงเรียนโดยส่วนมากในประเทศไทยจะมีลักษณะเป็นโต๊ะและเก้าอี้ไม้ธรรมดา เรียบง่าย หรือเก้าอี้พลาสติกสีสันสดใสที่ซ้อนชั้นกันอยู่ อาจทำให้ผู้ชมคนไทยคิดถึงร้านอาหารริมถนนหนทางในประเทศไทยอันเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวัฒนธรรมไทยในทุกยุคสมัยและสีสันความฟู่ฟ่าของเมืองหลวง หรือขดลวดที่พันกันอยู่ยุ่งเหยิงก็เป็นตัวแทนของชีวิตที่วุ่นวายในเมืองหลวง  นอกจากนี้ประติมากรรมช้างไม้พุ่มสังกะสี ก็เป็นตัวแทนของวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและมีคุณูปการอย่างมากต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นพาหนะในการเดินทางในป่าเขา เครื่องบรรณาการสำหรับการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเมืองต่างๆ  ราชพาหนะของกษัตริย์และยุทธปัจจัยในการออกศึกสงครามในอดีต เป็นต้น

ประการที่สอง ผลงานของสมบูรณ์ได้สัมพันธ์กับอุดมการณ์หลักของศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติของคนไทย  ในเรื่องของการศรัทธา ยึดมั่น ปฏิบัติตนตามหลักของศาสนา เช่น บาตรพระ ได้สะท้อนการตักบาตรอันเป็นกิจกรรมหลักทางศาสนาพุทธ  โดยถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธเชื่อกันว่าการทำบุญตักบาตรเป็นการสร้างกุศลและเป็นการแผ่ส่วนกุศลและอาหารไปถึงแก่ญาติผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร และเทวดาประจำตนเอง  รวมทั้งพระพุทธรูปองค์เล็กประดิษฐานในกล่องหีบที่เปิดออก ก็แสดงออกถึงความเชื่อของชาวพุทธที่บูชาและกราบไหว้พระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้โต๊ะบูชาแม่นางกวักที่มีน้ำอบและน้ำแดงถวายอยู่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวพุทธที่เชื่อกันว่าแม่นางกวักเป็นเครื่องรางของขลัง การบูชาแม่นางกวักด้วยน้ำแดงและน้ำอบจะช่วยส่งเสริมให้กิจการเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย เงินทอง โดยการบูชาแม่นางกวักมักจะพบเห็นได้ตามร้านค้าตามท้องตลาดทั่วไปและร้านค้าใหญ่ๆ  ตามห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

ประการสุดท้าย ผลงานของสมบูรณ์ได้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์หลักของพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันสูงสุดของสังคมไทย ในเรื่องของการจงรักภักดี เคารพเทิดทูน ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  จากการที่สมบูรณ์นำพระบรมรูปถ่ายสีขาวดำตอนทรงพระเยาว์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กำลังเดินหันหลังจูงพระหัตถ์ไปด้วยกัน  เนื่องจากสถาบันมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของปวงชนชาวไทย   ดังนั้นการนำพระบรมรูปถ่ายของพระองค์มาจัดแสดงจึงต้องการจะสื่อถึงความจงรักภักดีของชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นองค์ประกอบหลักของความเป็นไทยและยังหมายรวมถึงพระมหากษัตริย์ต่างก็มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกับคนธรรมดาสามัญชนทั่วไป คือ พระองค์ในตอนทรงพระเยาว์เองก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าอนาคตชะตาชีวิตของพระองค์จะต้องเผชิญหรือรับผิดชอบต่อสิ่งใด เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้า เฉกเช่นเดียวกับพวกเราทุกคนในวัยเด็กหรือหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตตามช่วงเวลาของตนเองโดยที่ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าอนาคตจะตัวเองเป็นนั้นจะเป็นเช่นไร

สุดท้ายนี้ นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Krung Thep Bangkok โดย สมบูรณ์ หอมเทียน ในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Biennale Arte 2017 แม้ทางศิลปินและภัณฑรักษ์จะต้องพบเจอกับปัญหาความจำกัดทางด้านพื้นที่ โดยต้องจัดแสดงอยู่ภายในร้านอาหาร ไม่ได้มีพื้นที่จัดแสดงถาวรเหมือนประเทศชั้นนำอื่นๆ เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอและเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ แต่อย่างใด  ผลงานศิลปะของสมบูรณ์ยังคงแสดงออกซึ่งการตกผลึกทางความคิดอย่างดีและน่าสนใจ  มากไปกว่านั้น นอกจากวัตถุเหล่านี้จะมีกระแสและเสียงสะท้อนของเรื่องราว  วัฒนธรรม และสังคม ของความเป็นกรุงเทพฯ  ในฉบับของสมบูรณ์ แต่ยังเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องความเป็นนามธรรมรอบๆ ตัวมันซึ่งแสดงความสัมพันธ์กับอุดมการณ์หลักของชาติ อันได้แก่  ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  ได้อย่างแยบยลอีกด้วย จนอาจเรียกได้ว่า กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย        หากผู้ชมได้พิจารณาและใช้จินตนาการรับรู้ถึงสุนทรียศาสตร์ความงามในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ก็จะรับรู้ได้ถึงความงดงามของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในวัตถุหรือสิ่งที่รายล้อมอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างที่สมบูรณ์ได้พบเจอและกล่าวไว้ คือ “ในสรรพสิ่งมีตัวตนเเฝงอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นและรับรู้ได้หรือไม่” (ขณะคิดนี้กำลังพิจารณางานสิ่งของพลาสติกอยู่ในยามเช้า)