By Pacharac
โม จิรชัยสกุล หนึ่งในสามศิลปินที่มีผลงานศิลปะจัดแสดงในนิทรรศการ Occasionally Utiliity ที่จัดแสดง ณ Gallery Ver ผลงานของเขานำเอาวัตถุสามัญในชีวิตประจำวันที่สามารถหาได้ทั่วไปกับวัตถุอันตรายที่ไม่มีใครแม้แต่อยากจะสัมผัสมารวมกันให้เกิดชิ้นงาน
ชิ้นงานที่ว่าเป็นแก้ว double wall แบบใส ภายในระหว่างชั้นของแก้วน้ำมีสารปรอทบรรจุอยู่ แก้วลักษณะดังกล่าวมีด้วยกัน 4-5 ใบ วางบนถาดรองแก้วซึ่งตั้งบนตู้เย็นอีกที ตู้เย็นนั้นเสียบปลั๊กทำงานปกติพร้อมใช้งาน ด้านหน้าบานเปิดตู้เย็นมีกระดาษข้อความสีเหลือง ตัวอักษรสีดำเขียนว่า “น้ำดื่มฟรี กรุณาใช้ภาชนะที่จัดเตรียมไว้ *ภาชนะมีส่วนผสมของปรอท กรุณาใช้ด้วยความระมัดระวัง ผลงานชิ้นนี้จัดวางภายในห้องจัดแสดงที่ถูกทำให้มีลักษณะเป็นเหมือนห้อง ๆ หนึ่งภายในบ้านปกติทั่วไป แต่เป็นไปแบบที่ยังตกแต่งไม่เรียบร้อย
งานชิ้นนี้คงไม่มีจุดน่าสนใจอะไรมากถ้ามันถูกปลี่ยนเป็นปรอทวัดอุณหภูมิ หรืออาจจะเป็นปรอทที่บรรจุลงในแก้วแบบเดิมแต่ย้ายสถานที่ไปตั้งบนแท่นวางผลงานศิลปะ เอาไปตั้งที่พื้น บนเกาอี้ หรือห้อยลงมาจากเพดานโดยไม่มีข้อความดังที่กล่าวไปกำกับไว้ อย่างมากถ้าไม่มีป้ายห้ามจับชิ้นงาน ผู้ชมคงแค่หยิบมันพลิกดูไปมาสองสามทีแล้วก็วาง แต่การเลือกจัดวางชิ้นงานของโมที่มีข้อความประกอบ เป็นเหมือนตัวบังคับที่ทำให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับงาน ทั้งที่ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าสารปรอทนั้นมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ถึงแม้ไม่รู้มาก่อนแต่ด้วยข้อความที่ระบุอย่างชัดเจนน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมเกิดความกล้า ๆ กลัว ๆ กับการเข้าไปมีส่วนร่วม ข้อความแสดงความเชื้อเชิญและแสดงความมไม่เป็นมิตรอยู่ในที หลังจากเห็นข้อความบางคนอาจเลือกไม่จับมันเลย บางคนเลือกหยิบขึ้นมาพลิกดูไปมาแล้ววางลงไปทีเดียว แต่ก็มีคนอีกส่วนที่ทำตามคำแนะนำจากกระดาษข้อความนั้น คือหยิบแก้วมากดน้ำแล้วดื่ม ความอยากรู้อยากลองกอปรกับความรู้สึก(ดี)จากการได้รับเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วม ร่วมทำการละเมิดคำเตือน ได้มีอิสระในการจับต้องชิ้นงาน ถึงน่ากลัวแค่ไหนแต่ความใคร่รู้ที่แฝงอยู่ลึก ๆ ภายใต้จิตใจของมนุษย์ก็เป็นตัวผลักดันให้เลือกทำ
โมเล่าให้เราฟังว่าจริง ๆ แล้วเขาคิดที่จะทำงานชิ้นนี้นานแล้ว ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ติดตรงที่สารปรอทที่เขาต้องการนำมาใช้ในงานเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลธรรมดาทั่วไปจะมีสิทธิถือครอง วัตถุอันตรายนี้ผู้ใดมีในครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดกฏอย่างร้ายแรง แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อโมกลับมาทำงานชิ้นนี้ในบ้านเกิด การเข้าถึงวัตถุอันตรายไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป ตามที่เขาเล่าว่าเขาไปตามซื้อสารปรอท ณ ที่แห่งหนึ่ง ผู้ขายพูดกับเขาว่า “อันตรายนะ เอากี่โลละ” ประโยคคำเตือนที่มีคำเชื้อเชิญในตัว ดูขัดแย้งแต่กลับกลายเป็นเรื่องน่าสนุกไม่น้อยกับการสร้างงานศิลปะในประเทศที่มาตรฐานความเจริญไม่เป็นตามที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก
เรื่องที่โมสามารถหาซื้อสารปรอทได้ในประเทศนี้ กับการที่โมเอาสารปรอทนี้มาสร้างงานบวกด้วยข้อความปะติดหน้าบานเปิดตู้เย็น เป็นเหมือนการสื่อถึงเรื่องการถูกกดให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับบางอย่างและความรู้สึกดีเมื่อได้เป็นอิสระด้วยการละเมิดกฎต่าง ๆ เหล่านั้น เช่นเดียวกับ Erwin Wurm ที่เคยจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ (BACC) ชั้น 9 ที่ศิลปินนำผลงานที่ไม่ใช่ศิลปะวัตถุแบบปกติทั่วไปมาแสดงโดยผู้ชมสามารถเข้าไปทำอะไรก็ได้กับวัตถุนั้นตามคำสั่ง One minute sculptures เมื่อต้องเข้าไปชมงานศิลปะเรามักคุ้นชินกับการถูกห้ามให้จับต้องผลงานศิลปะนั้น ๆ ครั้งนี้ต่างออกไปคือผู้ชมมีสิทธิ์เต็มที่ในการเข้าไปกระทำกับวัตถุนั้นได้เต็มที่ แต่มีเวลาเพียงหนึ่งนาทีเท่านั้น จึงทำให้เราคิดไปเองว่าเรามีอิสระแล้วกับการได้มีโอกาสละเมิดในข้อห้ามที่เราเคยถูกห้ามมาก่อน แต่แท้จริงแล้วเราก็ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับอยู่ดี ไม่ใช่จากตัวสถาบันรับรองงาน แฝงอยู่ในคำสั่งของศิลปิน
กลายเป็นว่าวัตถุที่ใช้เป็นชิ้นงานศิลปะไม่ใช่หลักใหญ่ใจความสำคัญเท่ากับการได้เฝ้าสังเกตุปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างผลงานกับผู้ชม ความแปรเปลี่ยนและความเลื่อนไหลของคำจำกัดความศิลปะในศิลปะร่วมสมัยนั้นไม่หยุดอยู่ที่การเน้นที่ตัววัตถุอีกต่อไป การเล่นกับความคิดต่างหากที่กลายเป็นส่วนสำคัญ แก้วน้ำก็คือแก้วน้ำ วางไว้ในบ้านก็อาจเป็นแค่ภาชนะใส่น้ำดื่ม พอศิลปินหยิบแก้วน้ำมาดัดแปลง หรือแค่บิดเบือนความเป็นแก้วน้ำด้วยการเอามาวางภายในกรอบของสถาบันศิลปะ ผู้ชมอย่างเราก็กลายเป็นว่าถูกบังคับให้ต้องคิดหาความหมายของแก้วน้ำนั้นด้วยตัวเราเองว่ามันยังเป็นแก้วน้ำที่มีหน้าที่การใช้งานเช่นเดิมอยู่หรือไม่