ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับงานจิตรกรรม The Last Supper (ภาพที่ 1) กันเป็นอย่างดี โดยเนื้อหาของมันจะพูดถึงอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาเยือนบุตรแห่งคริสต์ พระองค์ได้ตรัสแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายว่า ใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะเป็นผู้ที่ทรยศเรา แน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวได้สร้างความโกลาหลและตื่นตระหนกให้กับศิย์ของพระองค์เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากสีหน้าและอากัปกิริยาที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ในทำนองเดียวกันกับคำพยากรณ์บางอย่างที่แฝงตัวมากับภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นผลงานที่เข้ามาปะทะกับสายตาของผู้ชมเป็นเมื่อเข้ามาภายในตัวแกลเลอรี ราวกับว่าเป็นปฐมบทของเนื้อหาภายในนิทรรศการในครั้งนี้
เมื่อเข้ามายังแกลเลอรี่ 1Projects งานชิ้นแรกที่เข้ามาปะทะกับสายตาของผู้ชมก็คืองานจิตรกรรมฝาผนังซึ่งถูกบรรจุอยู่ในกล่องเก็บอาวุธสงครามอีกทีหนึ่ง (ภาพที่ 2) (ตามคำบอกกล่าวของศิลปินในวันเปิดนิทรรศการ) ตัวจิตรกรรมฝาผนังหลงเหลืออยู่เพียงเศษซากผุพัง หาได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ภาพวาดดังกล่าวมีลักษณะการจัดวางตัวละครที่คล้ายคลึงกับภาพ the last supper ที่ได้ท้าวความไว้ข้างต้น กล่าวคือปรากฏพระเยซูอยู่ใจกลางภาพ ขนาบข้างด้วยศาสดาของศาสนาอื่นๆ โดยทุกคนอยู่ในอากัปกิริยาที่คล้ายว่ากำลังตอบโต้กันไปมา ในทำนองเดียวกับการที่บุตรแห่งคริสต์ล่วงรู้อนาคตถึงการทรยศหักหลัง งานชิ้นดังกล่าวก็แนะให้เห็นถึงภัยพิบัติ (ที่มาถึงแล้ว) จากความหลากหลายทางความเชื่อเช่นกัน
งานจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวสามารถนำสารที่ศิลปินต้องการจะสื่อกับผู้ชมออกมาได้เป็นอย่างดี กล่าวคือมันแสดงให้เห็นถึง “ผล” กระทบจากสงคราม ตกเป็นเบี้ยงล่างหรือผู้ถูกกระทำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็หนีไม่พ้นผู้ที่เคารพบูชาศาสนาเสียเอง ในทางกลับกัน การที่ศิลปินเลือกใช้กล่องเก็บอาวุธสงครามมาเป็นตัวบรรจุผลงานนั้น ก็ได้สร้างความหมายใหม่ขึ้นมาอีกความหมายหนึ่งให้กับชิ้นงานดังกล่าว เพราะหากศิลปินเพียงวางชิ้นงานไว้กับพื้น เราก็คงไม่ได้คิดกับมันต่อ และคงตัดสินว่ามันได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นก็คือแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากสงครามทางศาสนา แต่เมื่อศิลปินเปลี่ยนวิธีการจัดแสดง โดยแทนที่จะวางตัวชิ้นงานลงไปกับพื้นอย่างเปลือยเปล่าไร้ซึ่งการห่อหุ้มใดๆ เธอเลือกที่จะวางชิ้นงานลงในกล่องบบรรจุอาวุธ ทำให้เกิดความหมายแฝงอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือมันได้แปรสภาพจากผู้ถูกกระทำกลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ทั้งหมดเสียเอง ทั้งยังกลายเป็นสัญญะที่บ่งบอกถึงความรุนแรงโดยเปรียบเปรยตัวจิตรกรรมฝาผนังเป็นดั่งอาวุธสงครามอันก่อให้เกิดบาดแผลทางกายและทางใจจำต้องได้รับการกักเก็บเป็นอย่างดี
หากเปรียบตัวชิ้นงานในข้างต้น (ภาพที่ 2) เป็นคำนำของนิทรรศการครั้งนี้ ชิ้นงานที่กำลังจะหยิบยกมาพูดถึงชิ้นต่อๆไปก็คงเปรียบได้กับตัวเนื้อหาที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารกับผู้ชม เมื่อเรากวาดสายตาไปทั่วแกลเลอรี่จะพบว่าวัสดุส่วนใหญ่ที่ศิลปินเลือกมาใช้มักจะยึดโยงอยู่กับทหารและความเป็นหญิง ดังจะเห็นได้จากงานหมวกทหารทั้งสองใบ (ภาพที่3) โดยใบทางซ้ายมีการแซมผมที่มีลักษณะค่อนข้างยาว ทำให้ผู้ชมสามารถอนุมานได้ว่าศิลปินน่าจะต้องการสื่อถึงทหารหญิงที่่มีความเท่าเทียมกับทหารชาย (แทนด้วยหมวกทางด้านขวา) โดยการเลือกที่จะแขวนหมวกทั้งสองไว้ในระดับความสูงเดียวกัน เช่นเดียวกับงานที่นำชุดทหารทั้งชุดมาจัดแสดง (ภาพที่ 4) ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง และรองเท้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาพแทนของเหล่าทหารหาญผู้เสียสละตนเอง หรือในทางกลับกันคือเป็นเหยื่อในสงครามครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังสังเกตุเห็นได้อีกว่า
เสื้อผ้าเหล่านี้ผ่านความตรากตรำมาในระยะเวลาหนึ่ง จากรอยเปราะเปื้อนจากโคลนที่แห้งจนแข็งตัวก็ดี ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้านปราศจากร่องรอยแห่งสมรภูมิรบ อย่างไรก็ตาม หากจะปักใจเชื่อทันทีก็
กระไรอยู่ เพราะร่องรอยเหล่านั้นอาจไม่ได้มาจากสนามรบ แต่มาจากการฝึกซ้อมประจำวันก็เป็นได้ หากต้องการเน้นย้ำถึงความเป็นเหยื่อให้ชัดเจนจริงๆ จะดีกว่าไหมหากเปลี่ยนโคลนเป็นเลือด หรือไม่ก็ใช้เสื้อผ้าที่ขาดวิ่น ไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะความไม่สมบูรณ์เหล่านั้นกลับให้ภาพเหยื่อสงครามได้ชัดเจนกว่างานดังกล่าวเสียอีก (ภาพที่4)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทหารจะตกเป็นเหยื่อจริงๆหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการที่ศิลปินได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของชีวิตทหารซึ่งไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าชีวิตเด็กสาวเลยแม้แต่น้อย (ภาพที่5) กล่าวคือมันทำให้ผู้ชมเห็นถึงความเท่าเทียมของชีวิต ทหาร หรือประชาชน ไม่มีความตายใดที่น่ายินดีหรอก ด้วยความที่หน้าที่ของทหารคือการปกป้องประชาชน เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับสถานการณ์ที่อันตรายต่างๆ อันเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นเรื่องที่เราสามารถพบเจอได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป แต่เมื่อศิลปินนำชุดเดรสและตุ๊กตาหมีมาจัดวางข้างชุดทหารมันทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าไม่มีความสูญเสียใดที่น่ายกย่องหรือน่ายินดีเลยสักนิด เรียกได้ว่าทำให้เราหันมามองทหารมากขึ้น
ตรงข้ามกับงานชุด Patani Semasa (ภาพที่ 6) ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม โดยนิทรรศการดังกล่าวจะมีเนื้อหาเน้นไปยังความเป็นอยู่ของประชาชนภายในพื้นที่เสียส่วนใหญ่ ทำให้เราเห็นมุมมองของปานพรรณที่โฟกัสไปยังจุดอื่นๆที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
Symbol of Violence by Suhaidee Sata
เมื่อมองย้อนกลับไปดูผลงานเก่าๆของเธอ เช่น งานชุด “Aftermath” ที่ได้รับรางวัล 11th Benesse Price ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Singapore Biennale 2016 (ภาพที่ 7) จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกับนิทรรศการ “Ruin” พอสมควร ผลงานของเธอในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงตัวตนอีกด้านหนึ่งของปานพรรณ ด้วยเนื้อหาที่ร่วมสมัย ตรงไปตรงมาและเข้าใจได้ง่าย ต่างออกไปจากงานชิ้นก่อนหน้า ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นงานทางศาสนา ศิลปินพยายามที่จะหลุดออกจากกรอบเดิมๆที่ถูกสังคมยัดเยียดให้เธอเป็น