โดย Por Pramsumran

ความรู้สึกแรกของฉันหลังก้าวตัวเข้ามาอยู่ในนิทรรศการคือ “เหมือนอยู่เมืองนอก”
หอศิลป์สีขาวถูกเปลี่ยนแปลงเป็นนู่นและเป็นนี่เหมือนถูกจับแต่งตัวใหม่ทุกครั้งที่มีนิทรรศการใหม่ สำหรับนิทรรศการนี้ หอศิลป์แต่งตัวเปรี้ยวและล้ำกว่าทุกครั้ง
เหตุผลที่ฉันรู้สึกว่าเหมือนอยู่เมืองนอก เพราะโดยส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกคุ้นเคยกับงานประเภท Media Art เท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดแสดง media art แบบเต็มพื้นที่เช่นนี้ จึงเหมือนได้เข้าไปในดินแดนมหัศจรรย์และเรียนรู้วัฒนธรรมการสื่อสารของคนในดินแดนนั้น

งานที่ฉันชอบที่สุดในนิทรรศการคืองาน ROCK | PAPER |SCISSORS (2015) เมื่อพูดถึงสิ่งของ มนุษย์มักจะใส่ความเป็นมนุษย์ให้สิ่งของกลายเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา แต่หากเราลองมองอีกมุมล่ะ ผ่านวีดีโอทั้งสามด้านของผนัง เราจะเห็นมนุษย์พยายามเป็นก้อนหิน กระดาษ และกรรไกร ปลดเปลื้องความเป็นมนุษย์ลง
ในขณะที่งานซึ่งตั้งคำถามว่าหากเทพปกรณัมไม่ใช่เพศเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีเพียงหญิงและชาย แต่เป็นเพศทางเลือกที่หลากหลายกว่านั้นล่ะ ? ลองฟังเทพเหล่านั้นพูดดูสิ น่าสนใจไม่น้อยเลย
นอกเหนือจากนี้ คำที่ฉันหยิบจับเอาได้ผ่านการสื่อสารในดินแดนใหม่แห่งนี้ คือ “ความทรงจำลวงหลอก เติบโต แห้งเหี่ยว เพศและเพศสภาพ เทพปกรณัม ดับสลาย แตกสูญ ครอบครัว ตัวตน”

ผ่านภาพ การเคลื่อนไหว การเต้น การแสดง งานศิลปะพูดคุยกับเราด้วยเสียงที่ดังกว่าปกติ พูด แสดงออก และบอกบางอย่างกับเราโดยตรง ไม่ได้มีเพียงความเงียบสนิทอย่างเคย หากได้ใช้เวลาลองสนทนากับงานแต่ละชิ้น “Shifting Horizons” คือการยกขยายเส้นขอบฟ้าการรับรู้เรื่องศิลปะของผู้ชม- อย่างฉัน และคุณ
Shifting Horizons: music, myth, and memory. : The media art of John Sanborn
วันที่ : 25 มีนาคม – 10 กรกฎาคม 2559
สถานที่: ห้องนิทรรรศการหลัก ชั้น 7 , หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร