By Por Pramsumran

Three-cornered world By Por Pramsumran6

หลังจากเดินขึ้นบันไดสีดำ ฉันพบพื้นที่แสดงงานซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากพื้นลูกบาศก์สีขาว (White Cube) ของแกลลอรี่ที่เราเห็นกันทั่วไป แวบแรกมันทำให้ฉันนึกถึง “ห้องเก็บของ” สำหรับวิรดา เธอบอกว่ามันเหมือน “ห้องใต้หลังคา” แม้เราจะมองพื้นที่นี้ต่างกัน แต่สิ่งที่เราเห็นเหมือนกันคือ มันเป็นพื้นที่เก็บของ และในสิ่งของเหล่านั้น เราประทับความทรงจำเอาไว้


หากดูจากผลงานที่ผ่านมาของวิรดา ฉันอาจสรุปได้ว่าเธอทำงานกับความรู้สึกที่ตนเองมีต่อวัตถุ ทั้งในความหมายและรูปร่างรูปทรงของมัน ดังเช่นที่เธอสนใจว่าในการถ่ายภาพของตนเองนับร้อยภาพ เหตุใดจึงปรากฏภาพหน้าต่างไปกว่าครึ่ง โดยที่เธอก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่คล้ายกับว่าถูกดึงดูดให้สนใจหน้าต่างเสมอ จากนั้นวิรดาจึงเริ่มทำการค้นคว้าจนพบว่ามนุษย์เราสามารถมีความรู้สึกหรือให้ความหมายวัตถุใดวัตถุหนึ่งได้เหมือนกัน อาจเรียกว่าเป็นความทรงจำร่วมที่เรามีต่อวัตถุนั้น ในขณะเดียวกัน แต่ละคนก็ให้ความหมายส่วนตัวจากความทรงจำส่วนตัวที่มีต่อวัตถุชิ้นนั้นๆ และด้วยแนวความคิดนี้เองที่นำมาสู่ส่วนต่างๆ ของนิทรรศการ

Three-cornered world By Por Pramsumran5

น่าเสียดายที่ฉันมาถึงนิทรรศการในวันที่ทุกอย่างถูกจัดแสดงครบสมบูรณ์จึงไม่ได้เห็นการเติบโต ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่วิรดาได้ทะยอยฝากวัตถุความทรงจำทั้งหมด 36 ชิ้น นิทรรศการ Three-Cornered World แบ่งออกเป็นห้าส่วนตามประเภทของงาน ได้แก่ หนึ่ง งานคอลลาจซึ่งจัดแสดงอยู่บนโต๊ะ แม้ภาพจะถูกวางทับซ้อนกันแต่ตรงกลางของภาพจะถูกตัดหายเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าว่างเปล่า ส่วนที่สองคือภาพขนาดเท่ารูปโพราลอยด์ที่มีการตัดแต่งให้บางส่วนถูกลดทอนรายละเอียดไปจัดแสดงอยู่บนชั้นกระจกเล็กๆ ติดกับผนัง ส่วนที่สามคือภาพที่จัดแสดงในกรอบไม้ซึ่งศิลปินได้ให้ความหมายว่าต้องการให้ผู้ชมมองดูเหมือนการมองออกไปนอกหน้าต่าง ส่วนที่สี่คือวีดีโอซึ่งแสดงการวางซ้อนทับของภาพที่ศิลปินได้ถ่ายไว้เมื่อครั้งไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเกาหลีแบบไม่มีการลดทอนหรือแต่งภาพคล้ายกับเวลาเราดูภาพถ่ายที่ล้างออกมาทีละใบ ภาพนั้นวางซ้อนและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนความทรงจำของเรา และส่วนสุดท้ายคือ objects archive การเก็บความทรงจำในลักษณะของภาพขนาดรูปโพราลอยด์ซึ่งมีการลดทอนรายละเอียดบางส่วนและระบุคำที่เป็นการให้ความหมายส่วนตัวของศิลปิน

Three-cornered world By Por Pramsumran1

เนื่องจากศิลปินเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ซึ่งทำงานในลักษณะสองมิติ การจัดแสดงงานในลักษณะสามมิติก็ยังคงทำให้ฉันรู้สึกเหมือนการดูงานในลักษณะสองมิติ ไม่ได้มีลักษณะดูได้โดยรอบ แต่ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด สำหรับฉันแล้ว Three-Cornered World คือโลกสามด้านของความทรงจำ ของศิลปิน ของฉัน-ผู้ชม และของเรา-มนุษย์ที่มีร่วมกัน นิทรรศการของวิรดาทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้รับการต้อนรับให้เข้าไปในห้องเก็บของหรือห้องใต้หลังคาของเธอ เธอยื่นอัลบั้มให้ดูภาพที่เธอถ่าย บอกเล่ามันด้วยถ้อยคำกระชับ ในโลกของความทรงจำ เราไม่ได้เก็บภาพความจริงได้โดยสมบูรณ์ ฉันคิดว่าเราเลือกจำหรือมีความสามารถที่จะจำได้เพียงบางส่วน บางเสี้ยว แม้เราอยากจำรายละเอียดทั้งหมด แต่เราก็ไม่สามารถทำได้ ดูเหมือนความทรงจำจะมีกลไกของมันที่ทำให้เราเห็นส่วนหนึ่งชัดเจน และลืมส่วนอื่นๆ ลดทอนมันให้เป็นเพียงภาพเบลอ หรือความว่างเปล่า และอย่างที่วิรดาว่าในการเสวนาของเธอ “มันไม่ได้มีอยู่แล้ว เราคว้าไม่ได้ แต่เราก็ยังพยายามที่จะเก็บมันไว้ ซึ่งจริงๆ ก็ทำไม่ได้”

ฉันพบว่าตัวเองถ่ายภาพผลงานของวิรดาเก็บไว้ ถ่ายบางอย่างที่โหวงว่างเปล่า แต่มันทำให้ฉันนึกถึงตัวเองในช่วงเวลาหนึ่งหรือนึกถึงใครคนหนึ่ง มันเป็นความซับซ้อนของอาการอยากจดจำของมนุษย์ ฉันถ่ายภาพเพื่อคัดลอกสิ่งที่วิรดาบันทึกไว้เพราะเธอไม่อยากลืม แม้เธอจะรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกต่อไปแล้ว ฉันถ่ายภาพนั้นเพราะมันทำให้ฉันจำบางอย่างของตนเองขึ้นมาได้ แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกต่อไปแล้วเช่นเดียวกัน ไม่นาน ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกลดทอน และชัดเจนเพียงบางส่วน ส่วนที่ชัดเจนนั้นจะยังคงย้ำเตือนให้เรามองหามันอยู่เสมอ